คุณกำลังมองหาอะไร?

การขับเคลื่อนงานสำคัญของกรมอนามัย ปีงบประมาณ 2564

1. รู้จักกรมอนามัย

1.1. ประวัติ พันธกิจ ภารกิจกรมอนามัย

กรมอนามัยมีประวัติความเป็นมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 เมื่อมีการเปลี่ยนชื่อกระทรวงการสาธารณสุข เป็นกระทรวงสาธารณสุข และเปลี่ยนชื่อกรมสาธารณสุขเป็นกรมอนามัยนับจนถึงปีนี้มีอายุถึง 69 ปี โดยมีภารกิจตามกฎหมายตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2552 และมีโครงสร้างการบริหารงานของกรมอนามัย ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2552 ที่ปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันแล้ว

1.2. วิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัฒนธรรมองค์กรกรมอนามัย

โดยมีวิสัยทัศน์และพันธกิจ ในการ “เป็นองค์กรหลักของประเทศในการอภิบาลระบบส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อประชาชนสุขภาพดี”

พันธกิจ ทำหน้าที่ในการสังเคราะห์ใช้ความรู้และดูภาพรวมเพื่อกำหนดนโยบายและออกแบบระบบส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมโดยการประสานงาน สร้างความร่วมมือและกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อการดำเนินงาน

วัฒนธรรมองค์กร ที่ยึดเหนี่ยวร่วมกัน คือ H-E-A-L-T-H

1.3. โครงสร้างและระบบกำกับดูแลกรมอนามัย

มีโครงสร้างและระบบการกำกับดูแลหลัก ประกอบด้วย 4 กลุ่มภารกิจ ได้แก่ กลุ่มภารกิจด้านการส่งเสริมสุขภาพ กลุ่มภารกิจด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม กลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ระดับพื้นที่ และกลุ่มภารกิจอำนวยการ และมีกลไกการกำกับดูแลตนเองและการกำกับดูแลโดยหน่วยงานภายนอก

1.4. คณะผู้บริหารกรมอนามัย

ช่วงปีงบประมาณ 2564 คณะผู้บริหารกรมอนามัยประกอบด้วย
อธิบดีกรมอนามัย นพ. สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย
รองอธิบดีกรมอนามัย นพ.ดนัย ธีวันดา นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ นพ.บัญชา ค้าของ นพ. สราวุฒิ บุญสุข

2. ภารกิจกรมอนามัย

การปฏิบัติงานของกรมอนามัย มีทั้งลักษณะดำเนินงานโดยหน่วยงานที่เป็นหน่วยปฏิบัติการหลัก (Function) และมีการทำงานในลักษณะเป็นกลุ่มภารกิจที่มีลักษณะคล้ายกัน เชื่อมต่อกันที่เรียกว่าการทำงานแบบกลุ่มภารกิจ (Cluster) ตามคำสั่งกรมอนามัยที่ 72/2564 เรื่อง คณะกรรมการขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ประกอบด้วยกลุ่มภารกิจหลัก 5 กลุ่มภารกิจ ได้แก่ กลุ่มสตรีและเด็กปฐมวัย กลุ่มวัยเรียนวัยรุ่น กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มอนามัยสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มภารกิจสนับสนุนอีก 5 กลุ่มภารกิจ ตามคำสั่งกรมอนามัยที่ 196/2564 เรื่อง คณะกรรมการสนับสนุนขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้แก่ กลุ่มการคลังและงบประมาณ กลุ่มข้อมูลการจัดการความรู้และการเฝ้าระวัง กลุ่มยุทธศาสตร์กำลังคน กลุ่มกฎหมาย และกลุ่มส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ

3. การขับเคลื่อนงานสำคัญ

3.1. กลุ่มสตรีและเด็กปฐมวัย

งานสตรีและเด็กปฐมวัย เป็นต้นน้ำของการดูแลสุขภาพ ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ต่อเนื่องถึงเด็กอายุ 5 ปี โดยมีกลุ่มเป้าหมาย หญิงชาย ที่เตรียมพร้อมก่อนมีบุตร หญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด และเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี โดยการส่งเสริมสุขภาพตั้งแต่ ด้านร่างกาย ด้านโภชนาการ ด้านออกกำลังกาย ด้านสุขภาพช่องปาก ในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 -2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพโดยกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ งานวิวาห์สร้างชาติ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ส่งเสริมกิจกรรมทางกายในหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด งานมหัศจรรย์ 1000 วันแรกของชีวิต การส่งเสริม ปกป้อง สนับสนุน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โครงการส่งเสริมโภชนาการและการเจริญเติบโตของเด็กปฐมวัย และกิจกรรมเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก โดยการดำเนินงานมีกิจกรรมและเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของคลัสเตอร์สตรีและเด็กปฐมวัย เช่น Application Pink book , Application save mom , AR อาหารแม่ลูก แบบคัดกรองพัฒนาการเด็ก DSPM , การสร้างความตระหนักรู้ผ่าน 9 ย่างเพื่อสร้างลูก

3.2. กลุ่มวัยเรียนวัยรุ่น

กรมอนามัย ดำเนินการส่งเสริมสุขภาพเด็กวัยเรียนวัยรุ่นควบคู่กับสถานศึกษา ตามแนวทางโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ และ โรงเรียนรอบรู้ด้านสุขภาพ โดยดำเนินงานด้านส่งเสริม ป้องกัน แก้ไขปัญหาสุขภาพแบบองค์รวม ใช้กลยุทธ์การพัฒนาความรอบรู้และพฤติกรรมสุขภาพเป็นสำคัญ รวมทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นโดยขับเคลื่อนภายใต้ พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 โดยมีเป้าประสงค์ เพื่อให้เด็กวัยเรียนวัยรุ่น เข้มแข็ง แข็งแรงและฉลาด ด้วยมาตรการสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่

1. พัฒนาระบบเฝ้าระวังสารสนเทศและติดตามประเมินผล
2. เสริมสร้างสมรรถนะภาคีเครือข่าย
3. พัฒนามาตรฐานและนวัตกรรม
4. พัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์
5. พัฒนาการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนที่เอื้อต่อสุขภาพดี

และมีกลยุทธ์ดำเนินงานที่เรียกว่า PIRAB คือ
P : Partnership การทำงานแบบหุ้นส่วนกับภาคีเครือข่ายต่างๆ เช่น พัฒนาการบริหารจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียน ผ่านคณะอนุกรรมการการพัฒนาการบริหารจัดการด้านอาหารและโภชนาการในโรงเรียน เพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สร้างความเชื่อมโยงด้านอาหารและโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ การดูแลสุขภาพนักเรียนด้วยการทำข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาระบบฐานข้อมูลร่วมด้านสุขภาพนักเรียนระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ กับ กระทรวงสาธารณสุข การขยายผลการดำเนินงานส่งเสริมกิจกรรมทางกายโดยผลักดันให้องค์กรที่มีวิธีปฏิบัติเป็นเลิศ (Best Practice) ด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อเด็กไทย สูง สมส่วน แข็งแรง IQ EQ ดี ยกระดับเป็นองค์กรรอบรู้สุขภาพ (Health Literate Organization : HLO) โดยการดำเนินการประสานและเผยแพร่โครงการโชป้าแอนด์ชายป้าเกม (ChOPA & ChiPA Game) เป็นต้น

I : Invest การลงทุนและพัฒนาระบบข้อมูล เช่น พัฒนา Digital Platform โปรแกรมการประเมินความรอบรู้ด้านสุขภาพในโรงเรียน พัฒนา Digital Platform แบบคัดกรององค์กรที่มีวิธีปฏิบัติเป็นเลิศ (Best Practice) และแบบคัดกรององค์กรรอบรู้สุขภาพ (Health Literate Organization : HLO) ด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อเด็กไทย สูง สมส่วน แข็งแรง IQ EQ ดี สำหรับโรงเรียน/หน่วยงาน

R : Regulate and Legislate การใช้กฎระเบียบและมาตรการทางกฎหมาย ด้วยการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ขับเคลื่อนแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561 - 2573 ในกลุ่มเด็กวัยเรียนวัยรุ่น ขับเคลื่อนการจัดการสุขาภิบาลอาหารและน้ำในโรงเรียน ตามกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 การยกร่าง พระราชบัญญัติการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สำหรับเด็ก เป็นต้น

A : Advocate การชี้นำด้านสุขภาพ และการสื่อสารความรอบรู้ด้านสุขภาพเด็กวัยเรียนวัยรุ่น ด้วยการจัดทำชุดความรู้และสื่อต่างๆ เช่น ชุดความรู้เพื่อการดูแลสุขภาพเด็กวัยเรียนแบบองค์รวม (NuPETHS) สื่อปฏิบัติการความรอบรู้สุขภาพ (Animation) สื่อความรอบรู้ด้านสุขภาพ (เด็กไทยรอบรู้สุขภาพ) แผ่นพับโภชนาการดี สูงดีสมส่วน แผ่นพับส่งเสริมโภชนาการเด็กวัยเรียนวัยรุ่น สูงดีสมส่วน ไม่อ้วน ผอม เตี้ย หนังสืออยากผอม...มาลองทำดู “ดูแลหุ่นสวยด้วยตัวเอง”สำหรับเด็กวัยเรียนและวัยใส และ หนังสือผักผลไม้สีรุ้ง หนังสือเมนูไข่สำหรับอาหารกลางวันนักเรียน หนังสือสารพัดเมนูไข่สำหรับเด็กวัยเรียน สุขภาพดี เริ่มที่…อาหาร ลด หวาน มัน เค็ม เติมเต็ม ผัก ผลไม้ ชุด Package Mobile Child Strong Together ด้านโภชนาการ ประเมินภาวะโภชนาการ อาหารตามวัยครบมื้อครบหมู่ การอ่านฉลากโภชนาการ Animation NuPETHS The Heroes (6 ตอน) สื่อบทความวิชาการในการดำเนินงานส่งเสริมกิจกรรมทางกายในองค์กรรอบรู้สุขภาพและองค์กรที่มีวิธีปฏิบัติเป็นเลิศด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย บทความวิชาการ กระบวนการดำเนินงานส่งเสริมกิจกรรมทางกายในองค์กรรอบรู้สุขภาพ ด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย : กรณีศึกษาโรงเรียนบ้านดอยแก้ว กระบวนการดำเนินงานสู่ความเป็นเลิศด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ในโรงเรียนวิถีอิสลาม : กรณีศึกษา โรงเรียนสะแกโดดประชาสรรค์ สื่อเพลงสร้างเสริมความรอบรู้สุขภาพด้านกิจกรรมทางกาย...สู่การแก้ปัญหาเด็กอ้วน ผอม เตี้ย และเด็กไม่แข็งแรง...ภายใต้โครงการโชป้าแอนด์ชายป้าเกม (ChOPA & ChiPA Game) สื่อสร้างเสริมความรอบรู้สุขภาพด้านกิจกรรมทางกาย...สู่การแก้ปัญหาเด็กอ้วน ผอม เตี้ย และเด็กไม่แข็งแรง ภายใต้โครงการโชป้าแอนด์ชายป้าเกม (ChOPA & ChiPA Game) เป็นต้น

B : Build Capacity การพัฒนาศักยภาพให้กับภาคีเครือข่ายสำคัญ เช่น พัฒนาศักยภาพทีมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ จัดเวทีประชุมวิชาการสุขภาพเด็กวัยเรียนวัยรุ่น ระดับประเทศ และระดับภาค ในทุกปี พัฒนาศักยภาพการประเมินและติดตามเฝ้าระวังภาวะโภชนาการและอาหารในโรงเรียน การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ChOPA & ChiPA Coach เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพัฒนาและสนับสนุนชุดความรู้เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของภาคีเครือข่าย เช่น คู่มือการดำเนินงานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ คู่มือแนวทางการพัฒนาโรงเรียนรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literate School : HLS) คู่มือเสริมสร้างศักยภาพนักเรียน Strong Smart Smile คู่มือการตรวจคัดกรองสุขภาพและการดูแลปัญหาที่พบบ่อยในเด็กวัยเรียนสำหรับครู พยาบาลอนามัยโรงเรียน การใช้เกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 6 – 19 ปี สำนักโภชนาการ กรมอนามัย พ.ศ. 2564 เพื่อใช้ประเมินการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 6 ปี ถึง 19 ปี บริบูรณ์ คู่มือส่งเสริมเด็กวัยเรียนสูงดีสมส่วนตามแนวคิด Active learning คู่มือนักจัดการน้ำหนักเด็กวัยเรียน (Smart Kids Coacher) แนวทางการคัดกรอง ส่งต่อและแก้ปัญหาเด็กอ้วนกลุ่มเสี่ยงในสถานศึกษา สถานบริการสาธารณสุขและคลินิก DPAC แนวทางการควบคุมป้องกันภาวะอ้วนในเด็กนักเรียน แนวทางการจัดทำค่ายลดน้ำหนัก แนวทางการจัดการอาหารกลางวันเด็กวัยเรียน คู่มือการจัดการอาหารกลางวันนักเรียนตามมาตรฐานโภชนาการ คู่มือแนวทางการจัดการคุณภาพน้ำบริโภค โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร คู่มือการควบคุมและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดื่มในโรงเรียน คู่มือการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน โรงเรียนสิ่งเเวดล้อมปลอดภัย เด็กไทยสุขอนามัยดี ปฏิทินเสียง เรื่อง "เด็กไทยรู้สุขอนามัย ชนะชัยภัยทุกโรค" เป็นต้น

นอกจากนี้ กรมอนามัยยังได้ดูแลสุขภาพของเด็กไทยภายใต้ภัยคุกคามด้านสุขภาพ ตามโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ (Health Promoting School : HPS) และเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่เด็กวัยเรียนวัยรุ่นโดยใช้แนวทางการพัฒนาโรงเรียนรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literate School : HLS) เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้านสุขภาพควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านการศึกษา โดยการพัฒนาศักยภาพโรงเรียนให้เป็นจุดเริ่มต้นและศูนย์กลางของการพัฒนาสุขภาพ รวมทั้งพัฒนาชุมชนให้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว จากสถานการณ์ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง สำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ สถานศึกษาเป็นหนึ่งในสถานที่ที่อาจเกิดการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษา ดังนั้นสถานศึกษาต้องเตรียมตัวให้พร้อมในการจัดการเรียนรู้ การเรียน การสอนรูปแบบใหม่ ที่สอดรับกับมาตรการการป้องกันการระบาดพร้อมกับเตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้เรียนได้รับผลกระทบจากรูปแบบการเรียนที่เปลี่ยนไปในช่วงการระบาดระลอกที่ผ่านมาโรงเรียนมีมาตรการปิดโรงเรียนเพื่อลดช่องทางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส แต่การปิดโรงเรียนส่งผลให้นักเรียนส่วนใหญ่ขาดโอกาสในการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง จึงได้มีการจัดทำแนวทางในการปฏิบัติสำหรับสถานศึกษา ประกอบด้วย คู่มือการปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 คู่มือการเฝ้าระวังติดตามและเผชิญเหตุรองรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในสถานศึกษา แนวปฏิบัติยกระดับความปลอดภัยมั่นใจสุขอนามัยไร้โควิด 19 ระลอกใหม่ในสถานศึกษา และสื่อภาพรอบรู้สุขภาพสู้โควิด 19 ซึ่งถูกรวบรวมอยู่ในอนามัยมีเดียกรมอนามัย

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ได้ยกระดับความปลอดภัยมั่นใจสุขอนามัยไร้โควิด 19 ระลอกใหม่ในสถานศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเรียน ผ่าน 5 ข้อปฏิบัติเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียน ดังนี้

1. ประเมินความเสี่ยงนักเรียน นักศึกษา บุคลากร ผู้ปกครอง สมาชิกในครอบครัว ด้วยตนเองก่อนเข้าออกจากบ้านทุกวันผ่าน Thai Save Thai
2. เตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนตามมาตรการ 6 มิติ 
3. สถานศึกษาประเมินความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน Thai Stop COVID Plus 
4. ยกระดับมาตรการปลอดภัยมั่นใจไร้โควิด 19 ผ่าน 6 มาตรการหลัก (DMHT - RC) 6 มาตรการเสริม (SSET - CQ) และมาตรการเฉพาะ
5. กำกับติดตามประเมินผล ผ่านระบบ MOE (COVID - 19) ศธ. และกลไกลติดตามประเมินผลรวม ศธ.- สธ. และกลไกลติดตามประเมินผลรวม ศธ.- สธ.

อย่างไรก็ตามสิ่งที่จำเป็น คือ การวางแนวทางเปิดโรงเรียนเพื่อให้นักเรียนได้เรียนตามปกติ และการเตรียมพร้อมเพื่อไม่ให้การเรียนหยุดชะงักในรูปแบบที่หลากหลาย โดยให้สอดคล้องกับระดับความรุนแรงของสถานการณ์ ควบคู่กับการใช้มาตรการทางด้านสาธารณสุขและมาตรการทางสังคมอย่างเคร่งครัด

3.3. กลุ่มวัยทำงาน

มีเป้าประสงค์เพื่อให้คนวัยทำงานมีสุขภาพแข็งแรง ฉลาดรอบรู้และเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ เนื่องจาก ประชากรวัยทำงานอายุ 15 - 59 ปี หรือประชากรวัยแรงงานเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ ประมาณ 38.41 ล้านคน บทบาทสำคัญของประชากรวัยทำงานเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นผู้นำครอบครัว เป็นผู้ดูแลประชากรกลุ่มวัยต่างๆ ภายในครอบครัว ดังนั้นการส่งเสริมสุขภาพประชากรกลุ่มวัยทำงาน เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยผู้สูงอายุตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างคุณภาพ และสุขภาพแข็งแรง

การสำรวจสุขภาพประชากรโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 4 พ.ศ. 2552 และครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 พบว่าประชากรวัยทำงานป่วยด้วยโรคเบาหวานร้อยละ 6.9 และ 8.9 ตามลำดับ และโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 21.4 และ 24.7 ตามลำดับ และ พ.ศ. 2561 - 2563 ค่าดัชนีมวลกายปกติ ของประชากรวัยทำงานอายุ 18 - 59 ปี ร้อยละ 49.09, 48.29 และ 48.21 ตามลำดับ ด้านพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ ของประชากรวัยทำงาน 4 ด้าน ได้แก่ 1) พฤติกรรมการกินผักและผลไม้ 2) พฤติกรรมกิจกรรมทางกาย 3) พฤติกรรมการนอนหลับพักผ่อน และ 4) พฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปาก จากผลการสำรวจของกรมอนามัยพบว่า พฤติกรรมที่พึงประสงค์ของประชากรวัยทำงาน พ.ศ. 2562 และ พ.ศ. 2563 ร้อยละ 25.2 และ 36.52 ตามลำดับ

การพัฒนาคนไทย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับทุกช่วงวัยและหลากหลายมิติ เพื่อการดำรงชีวิตช่วงศตวรรษที่ 21 และเพื่อสามารถเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างมีแบบแผน กรมอนามัยในฐานะผู้รับผิดชอบงานส่งเสริมสุขภาพทุกกลุ่มวัยและการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อสุขภาพของประชาชน จึงจำเป็นต้องดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพปัจจุบัน

3.4. กลุ่มผู้สูงอายุ

กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มที่เปรียบเสมือนช่วงปลายน้ำในเส้นทางของการดูแลส่งเสริมสุขภาพตามช่วงวัย การขับเคลื่อนงานในกลุ่มผู้สูงอายุที่ผ่านมามีการแบ่งการดูแลส่งเสริมสุขภาพเป็น 3 กลุ่ม ตามเกณฑ์การประเมินโดยแบบประเมินกิจวัตรประจําวัน ดัชนีบารเธลเอดีแอล (Barthel Activities of Daily Living : ADL) แบ่งการดูแลผู้สูงอายุเป็น กลุ่มติดสังคม กลุ่มติดบ้าน กลุ่มติดเตียง

ในปัจจุบันมีการขับเคลื่อนงานผ่านบริการดูแลระยะยาว (Long Term Care : LTC) โดยการบูรณาการของบริการด้านสังคมและด้านสุขภาพทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

กลไกหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบ Long Term Care ในชุมชน คือ ศูนย์พัฒนาคุณภาพผู้สูงอายุ โดยมีคณะอนุกรรมการสนับสนุนการจัดบริการดูแลระยะยาวสําหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ภายใต้คณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กองทุนตําบล) เป็นกลไกในการบริหารจัดการ โดยมีแนวคิดหลักว่า ท้องถิ่นและชุมชนมีบทบาทหลักในการบริหารจัดการและระดมทรัพยากร ซึ่งทําให้บูรณาการการจัดบริการได้อย่างเหมาะสม ภายใต้การสนับสนุนของระบบสุขภาพระดับอำเภอ (DHS) โดยส่วนกลางสนับสนุนการพัฒนากําลังคน จัดอบรมผู้จัดการการดูแล (CM) และผู้ช่วยเหลือดูแล (CG) สนับสนุนงบประมาณ กําหนดกลุ่มเป้าหมายที่มีค่าคะแนน Barthel ADL index เท่ากับหรือน้อยกว่า 11 กำหนดชุดสิทธิประโยชน์และค่าใช้จ่ายตามระดับการมีภาวะพึ่งพิงและภาวะสับสนทางสมอง โดยได้มีประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ท้องถิ่นและกองทุนสามารถใช้จ่ายเงินได้ ตามเจตนารมณ์ของนโยบาย โดยปีแรกมีพื้นที่เป้าหมายคือตําบลที่กองทุนอยู่ในเกณฑ์ดี มีความพร้อม และสมัครใจเข้าร่วม 1,000 แห่ง และมีเป้าหมายผู้สูงอายุที่ต้องดูแล 100,000 คน มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับการขับเคลื่อนงานเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างประสบความสำเร็จ มีเครื่องมือสนับสนุนให้เกิดการรายงานผลการปฏิบัติงานที่ลดระยะเวลาในทำงานของเจ้าหน้าที่ในการรายงานผลงาน มีระบบการคัดกรองและเฝ้าระวังการดูแลส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ เป็นต้น

3.5. กลุ่มอนามัยสิ่งแวดล้อม

การดำเนินงานอนามัยสิ่งแวดล้อม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ดำเนินงานภายใต้ทิศทางและนโยบายที่เกี่ยวข้อง ทั้งยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข ยุทธศาสตร์กรมอนามัย รวมทั้งแผนปฏิบัติการรายประเด็น ประกอบด้วย แผนปฏิบัติการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2560 - 2565 และแผนปฏิบัติการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านสาธารณสุข ระยะที่ 1 พ.ศ. 2564 - 2573 โดยการขับเคลื่อนงานอนามัยสิ่งแวดล้อม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีเป้าหมาย “ประชาชนทุกกลุ่มวัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี” และขับเคลื่อนผ่านประเด็นงานสำคัญ คือ

1) การสร้างความเข้มแข็งการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เสี่ยงเพื่อสุขภาวะที่ดี มุ่งเน้นให้จังหวัดมีระบบจัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และขับเคลื่อนการดำเนินงานอาหารปลอดภัย (ตลาดนัดน่าซื้อและอาหารริมบาทวิถี) ที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการใช้กลไกคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด ขับเคลื่อนการดำเนินงาน

2) การเสริมสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ท้องถิ่นและชุมชนน่าอยู่ มุ่งเน้น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนาคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อม ประเด็นพื้นฐาน คือ สุขาภิบาลอาหาร น้ำบริโภค ขยะมูลฝอย และสิ่งปฏิกูล และบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ

3) การยกระดับคุณภาพการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมสถานบริการการสาธารณสุขที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านการดำเนินงาน GREEN and CLEAN Hospital และการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ของสถานบริการการสาธารณสุข

ในการขับเคลื่อนงานอนามัยสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการบูรณาการการดำเนินงานกับเครือข่ายทุกระดับเพื่อร่วมขับเคลื่อนงานอนามัยสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรระดับต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานอนามัยสิ่งแวดล้อมมีประสิทธิภาพ โดยมีกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน คือ 1) พัฒนานโยบายและกฎหมายด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม 2) สร้างความร่วมมือและเพิ่มขีดความสามารถบุคลากรและภาคีเครือข่ายเพื่อการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม 3) กำกับ ติดตามและประเมินผล นโยบาย แผนงาน โครงการและการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพ และ 4) พัฒนาระบบข้อมูลและเฝ้าระวังอนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้คลัสเตอร์อนามัยสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงาน 5 หน่วยงาน คือ สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กองบริหารกฎหมายสาธารณสุข และศูนย์ห้องปฏิบัติการกรมอนามัย และยังมีหน่วยงานในภูมิภาค ที่สนับสนุนการขับเคลื่อนในพื้นที่ ประกอบด้วย ศูนย์อนามัยที่ 1 ศูนย์อนามัยที่ 2 ศูนย์อนามัยที่ 3 ศูนย์อนามัยที่ 4 ศูนย์อนามัยที่ 5 ศูนย์อนามัยที่ 6 ศูนย์อนามัยที่ 7 ศูนย์อนามัยที่ 8 ศูนย์อนามัยที่ 9 ศูนย์อนามัยที่ 10 ศูนย์อนามัยที่ 11 ศูนย์อนามัยที่ 12 และสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง ทั้งนี้ได้เผยแพร่ข้อมูลแนวทางและผลการดำเนินงานสำคัญ ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมผ่านทางเว็บไซต์คลัสเตอร์อนามัยสิ่งแวดล้อม

4. ภารกิจในการสนับสนุนขับเคลื่อนงานสำคัญ

4.1 กลุ่มการคลังและงบประมาณ

งบประมาณเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันยุทธศาสตร์ของประเทศ การจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีของราชการ กำหนดให้มีเป้าหมาย กลยุทธ์ ผลผลิต/โครงการ กิจกรรม และตัวชี้วัดผลสำเร็จประจำปี ที่มีความชัดเจน สอดคล้องกับเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายสำคัญของรัฐบาล ภารกิจของหน่วยงาน โดยนำข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ สภานิติบัญญัติแห่งชาติมาประกอบการพิจารณาด้วย รวมทั้งการจัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่ชัดเจน ในขั้นตอนของการจัดทำคำของบประมาณ โดยพิจารณาถึงความพร้อม ขีดความสามารถในการใช้จ่ายงบประมาณภายใต้ผลผลิต มีการจัดเตรียมรายละเอียดงบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และเสนอตั้งงบประมาณในภาพรวมเพื่อให้เกิดความครอบคลุมในการบริหารจัดการ ตามภารกิจและยุทธศาสตร์ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในวาระของการพิจารณา

เมื่อได้รับกรอบอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี มีการจัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ที่สอดคล้องตามมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ เสนอสำนักงบประมาณเพื่อให้ความเห็นชอบแผนการใช้จ่ายงบประมาณฯ และได้รับจัดสรรเงินงบประมาณประจำงวดแล้ว จึงเข้าสู่กระบวนการบริหารงบประมาณ โดยการโอนจัดสรรเงินงบประมาณ ลงสู่หน่วยงาน มีการกำหนดนโยบาย/มาตรการการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการฯ มีการกำกับ ติดตามผลการใช้จ่ายผ่านการประชุมผู้บริหาร ตามรายงานผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณกรมอนามัย/ประชุมกรม และในการประชุมของคณะกรรมการกลุ่มการคลังและงบประมาณ ได้มีการติดตามและกำกับงานสำคัญ เช่น กำกับการจัดซื้อจัดจ้างซึ่งต้องเผยแพร่บนเว็บไซต์ หัวข้อ ประกาศจัดซื้อจัดจ้าง โดยเผยแพร่แผนการจัดซื้อจัดจ้างขอบเขตงาน (TOR) เอกสารประกวดราคา เอกสารประกาศประกวดราคา การประกาศผลผู้ชนะ ในการจัดซื้อจัดจ้าง และการเปิดเผยราคากลาง บนเว็บไซต์กรมอนามัย ที่ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กฎกระทรวง ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ และการรับ - จ่ายเงิน นำส่งเงิน ให้เป็นตามระเบียบฯ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน และการใช้จ่ายงประมาณให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติงานที่กำหนด

นอกจากนี้ยังได้ควบคุมกำกับด้านการบัญชี การเงินและการพัสดุ โดยการสอบทาน และประเมินความเพียงพอของการควบคุมภายในด้วยเทคนิคการตรวจสอบ ด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ตามแผนปฏิบัติการตรวจสอบภายในประจำปี เพื่อสนับสนุนให้มีการปรับปรุงความเพียงพอและความมีประสิทธิผลของระบบการบริหารความเสี่ยง ระบบการควบคุม และระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อสร้างความมั่นใจอย่างสมเหตุสมผลว่าระบบต่างๆ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กร

4.2 กลุ่มข้อมูล การจัดการความรู้ และการเฝ้าระวัง Cluster KISs

(Knowledge Management, Information Technology and Surveillance Systems)

กรมอนามัย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานวิชาการของกระทรวงสาธารณสุขที่ทำหน้าที่อภิบาลระบบสุขภาพด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศ ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการทำงานให้เท่าทันสถานการณ์ และปัญหาสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไป การอภิบาลระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นได้จะต้องได้รับการสนับสนุนภายใต้แนวคิด “การมีกลไกการจัดการความรู้ ระบบข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดี มีประสิทธิภาพ” ดังนี้

ด้านจัดการความรู้ (Knowledge Management)

การจัดการความรู้เป็นปัจจัยสำคัญในการมุ่งสู่ความเป็นเลิศเพื่อรองรับการบริหารจัดการระบบการจัดการความรู้ วิจัย และนวัตกรรมของกรมอนามัยในภาพรวมให้เป็นมาตรฐานสากล และสนับสนุนให้เกิดผลลัพธ์เชิงระบบ (Impact) ที่มีพลังเพียงพอต่อการสร้างข้อเสนอและผลักดันนโยบายระบบส่งเสริมสุขภาพและระบบอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศบนฐานความรู้ (Knowledge Based Policy) กรมอนามัยจึงให้ความสำคัญกับการจัดการความรู้เพื่อนำพากรมอนามัยก้าวสู่การเป็นองค์กรหลักระดับประเทศ (National Health Authority) ด้านระบบการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม และได้มีการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไว้ ได้แก่

-  ฐานข้อมูลการจัดการความรู้ของกรมอนามัย
-  ฐานข้อมูลงานวิจัยของกรมอนามัย
-  ฐานข้อมูลนวัตกรรมกรมอนามัย
-  กิจกรรม LIKE Talk Award

ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology)

เพื่อให้มีการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างคุ้มค่าพอเพียง ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ โดยการเพิ่มสมรรถนะทั้งด้าน Hardware, Software และ People ware สามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่สำคัญทั้งจากภายในและภายนอกองค์กรอย่างไร้รอยต่อ และให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนได้ทั่วถึง เท่าเทียม ทุกที่ ทุกเวลา ร่วมทั้งสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งองค์กรแห่งความรู้ทางวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศ ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ได้แก่ DOH Dashboard ระบบเรียนออนไลน์ กรมอนามัย109 (MOOC Anamai) มาตรฐานความปลอดภัย ป้องกันโรค COVID - 19 รองรับสุขภาพดีวิถีใหม่ (Thai Stop Covid) ไทยประเมินเซฟไทย ครัวเรือนปลอดภัย ที่ทำงานไร้โควิด (Thai Save Thai)

ด้านข้อมูลและการเฝ้าระวัง (Surveillance Systems)

ระบบข้อมูลและการเฝ้าระวังการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของกรมอนามัย ประกอบด้วยข้อมูลตัวชี้วัดจาก 4 กลุ่มวัย (กลุ่มสตรีและเด็กปฐมวัย / กลุ่มวัยเรียนวัยรุ่น / กลุ่มวัยทำงาน / กลุ่มผู้สูงอายุ) และอนามัยสิ่งแวดล้อม สามารถนำมาใช้ประโยชน์ใน 5 มิติ คือ 1) ทราบปัจจัยการป้องกัน (Protective Factors) 2) ทราบกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพ (Promoting Intervention) 3) ทราบปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค (Risk Factors) แล้วนำไปสู่การแก้ไข 4) ผลลัพธ์ทางสุขภาพ (Health Outcomes) จากการเฝ้าระวัง นำไปสู่การส่งเสริมสุขภาพได้ทันต่อเหตุการณ์ 5) ผลกระทบต่อการดำรงชีวิต (Life Impact) เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์ข้อมูลข่าวสารและผลผลิตจากการเฝ้าระวังฯ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างของระบบข้อมูลและระบบเฝ้าระวัง ได้แก่

-  ระบบสารสนเทศสนับสนุนด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม114 (DOH Dashboard)
-  คู่มือเฝ้าระวังการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย
-  ศูนย์ปฏิบัติการกรมอนามัย (DOC : Department Operation Center)
-  ระบบฐานข้อมูลกลางกรมอนามัย (Anamai Data Center)
-  ระบบบัญชีข้อมูลกรมอนามัย (Anamai Data Catalog)

4.3 กลุ่มยุทธศาสตร์กำลังคน

ได้มีบทบาทในการพัฒนากำลังคน และดูแลให้บุคลากรกรมอนามัยมีความก้าวหน้าและรู้ทันกฎเกณฑ์ และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตลอดเส้นทางชีวิตข้าราชการกรมอนามัย

โดยเมื่อได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการกรมอนามัยแล้ว เจ้าหน้าที่กรมอนามัยจะได้ทราบถึง การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์กรมที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ หน่วยงานต่างๆ ที่ขับเคลื่อนงานตามบทบาทภารกิจในสังกัดกรมอนามัย สิทธิประโยชน์ต่างๆที่ข้าราชการได้รับรวมทั้งแนวทางขั้นตอน กฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ข้าราชการพึงปฏิบัติ การลาศึกษา และสิ่งที่พึงทราบและถือปฏิบัติในการเป็นข้าราชการที่ดี

เมื่อเข้าสู่กระบวนการทำงาน กรมอนามัยเปิดโอกาสในการเติบโตในสายอาชีพ (Career Path) โดยกรมอนามัยจัดทำเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพไว้ให้กับข้าราชการทุกระดับ (Career Chart) สำหรับการเพิ่มศักยภาพ มีการพัฒนาตามสมรรถนะและทักษะการบริหารจัดการด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นภารกิจหลักของกรมอนามัย (Career Development) ซึ่งเชื่อมโยงกับ Career Chart ประกอบด้วยหลักสูตรภายใน (In - house Training) หลักสูตรออนไลน์ (Online Course) โดยเนื้อหาหลักสูตรจะมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกรมและกระทรวงสาธารณสุขในอนาคต รวมถึงสถานการณ์ความผันผวน (Disruption) ที่ต้องรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ การพัฒนาหลักสูตรจึงมีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างการปรับกระบวนทัศน์ (Mindset) ทักษะที่เสริมการปฏิบัติงาน (Functional & Strategic Skillset) สมรรถนะหลักของกรมอนามัย (AAIM Competencies) และหลักสูตรสำหรับการเตรียมความพร้อมในการขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น (Leadership Skillset) ซึ่งจะประกอบด้วยหลักสูตรทั้งภายในและหลักสูตรภายนอก เพื่อสร้างความสัมพันธ์ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านสาธารณสุขและการเพิ่มพูนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ใหม่ๆ ร่วมกับคนภายนอก ทั้งนี้ กรมอนามัยสนับสนุนให้ข้าราชการของกรมอนามัยเข้าสู่กระบวนการเป็นกำลังคนคุณภาพของกรมอนามัย โดยการพัฒนาร่วมกับสำนักงาน ก.พ. ในรูปแบบของระบบข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง (High Performance and Potential System : HiPPS) หลักสูตรผู้นำคลื่นลูกใหม่ในราชการไทย (New Wave Leader) และหลักสูตรอื่นๆ รวมถึงทุนการศึกษาและทุนฝึกอบรม

และเมื่อข้าราชการทำงานได้ระยะเวลาหนึ่ง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการขึ้นสู่ตำแหน่งสูงขึ้น กรมอนามัยได้จัดทำแผนทดแทนตำแหน่ง เพื่อให้ข้าราชการมีกรอบและแนวทางในการพัฒนาตนเอง รวมทั้งการวางแผนในการสั่งสมประสบการณ์ และคุณสมบัติให้พร้อม เมื่อมีคุณสมบัติพร้อมในการสมัครเพื่อคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งสูงขึ้น ตั้งแต่ระดับชำนาญการพิเศษ เป็นต้นไป ข้าราชการกรมอนามัย จำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารงานบุคคลของกรมอนามัย สำหรับกรณีการย้าย การโอน และการลาศึกษา และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่ง ในระดับที่สูงขึ้น โดยบุคลากรและผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลได้จากหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษลงมา และเพื่อขอรับเงินประจำตำแหน่ง ระดับชำนาญการ ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดแบบรายการประกอบการคัดเลือกบุคคล แบบฟอร์มต่างๆ และคู่มือการปฏิบัติงานได้ และเมื่อข้าราชการอยู่ในระบบราชการจะต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติราชการเพื่อนำผลการประเมินไปใช้พิจารณาตอบแทนความดีความชอบแก่ผู้ปฏิบัติงานการประเมินผลการปฏิบัติราชการมีหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ที่ควรรับทราบ

นอกจากการประเมินผลการปฏิบัติราชการ เงินเดือนแล้วยังมีสวัสดิการทั้งที่กำหนดให้เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินเพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ข้าราชการ ดังนี้ 1) เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และ 2) สิทธิประโยชน์ของข้าราชการและข้าราชการพ้นจากราชการ และสิ่งที่สำคัญอีกประการ คือ ต้องรู้เกี่ยวกับวินัยข้าราชการ และปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง

4.4 กลุ่มกฎหมาย

กองบริหารกฎหมายสาธารณสุข กรมอนามัย มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนากฎหมาย และสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย ตามกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก

ภารกิจสำคัญในการดำเนินงานด้านกฎหมาย เพื่อป้องกันและรองรับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID - 19)) ที่เป็นปัญหาระดับโลก ประเทศไทยประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบันได้มีการแพร่กระจายไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นและมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นกฎหมายที่กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบังคับใช้ภายในเขตพื้นที่ เพื่อควบคุมดูแลการประกอบกิจการต่างๆ ในพื้นที่ที่มีโอกาสสูงในการเป็นแหล่งแพร่เชื้อหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ได้แก่ กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตลาด สถานที่สะสมอาหาร สถานที่จำหน่ายอาหาร การจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ รวมทั้ง การจัดการมูลฝอย ซึ่งในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นี้ ราชการส่วนท้องถิ่นควรต้องกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยจะเป็นการเสริมกันกับมาตรการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อันจะเป็นประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคโควิด 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ กองบริหารกฎหมายสาธารณสุข ได้พัฒนากฎหมายและจัดทำคู่มือแนวทาง สื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายแก่ เจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการ และประชาชน ดังนี้

1.  กฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต และหนังสือรับรองการแจ้ง ตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต หนังสือรับรองการแจ้ง และการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. 2559 พ.ศ. 2563
2.  ประกาศกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดห้องรักษาผู้ป่วยติดเชื้อร้ายแรง พ.ศ. 2563 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรการการป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID – 19)) สำหรับสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2563
3.   ประกาศกรมอนามัย จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ ประกาศกรมอนามัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรการการป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID – 19)) สำหรับสถานที่ราชการ สถานที่ทำงานเอกชนและสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2563 ประกาศกรมอนามัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID – 19)) สำหรับผู้ให้บริการ การขนส่งสาธารณะ พ.ศ. 2563
4.  คู่มือ แนวทางการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ คู่มือแนวทางการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขเพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID - 19)) แนวทางการปฏิบัติตามกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองการแจ้ง ตามกฎกระทรวงกําหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการแจ้ง และการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. 2559 พ.ศ. 2563 แนวทางการจัดการมูลฝอยติดเชื้อในครัวเรือนและชุมชน กรณีพบผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยง แนวทางการบังคับใช้มาตรการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในสถานบริการ ผับ บาร์ สถานที่ที่ให้บริการในทำนองเดียวกันและกิจการประเภทอื่นๆ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข แนวทางการบังคับใช้มาตรการตามกฎหมาย กรณี มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ในตลาดและกิจการประเภทอื่นๆ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข แนวทางการบังคับใช้มาตรการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขในการควบคุมดูแลสถานที่จำหน่ายอาหาร เพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19
5  สื่อ Infographic คลิปวีดีโอ

4.5 กลุ่มส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ

ความรอบรู้ด้านสุขภาพ เป็นหนึ่งในประเด็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านที่ 1 (คนไทยในศตวรรษที่ 21) และเป็นประเด็นปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้กรมอนามัย รับผิดชอบในการขับเคลื่อนความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งจากการสำรวจความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชนไทย อายุ 15 ปี ขึ้นไป ในปี 2562 พบว่า คะแนนเฉลี่ยความรอบรู้ด้านสุขภาพของคนไทยอยู่ที่ 88.72 คะแนน จากคะแนนเต็ม 136 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 65 ของคะแนนเต็ม มีความรอบรู้ด้านสุขภาพอยู่ในระดับปานกลางและมีประชาชนไทยร้อยละ 19.09 ที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพไม่เพียงพอสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ความรอบรู้ด้านสุขภาพในภาพรวมของประเทศ ทั้งนี้การขับเคลื่อนความรอบรู้ด้านสุขภาพ จึงเป็นประเด็นที่สำคัญ หากประชาชนไทยมีความรอบรู้ด้านสุขภาพจะส่งผลให้ลดความเหลื่อมล้ำ ลดค่าใช้จ่าย โรคไม่ติดต่อเรื้อรังลดลง อายุยืน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งต้องอาศัยการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ ทั้ง Health Sector และ Non Health Sector ตลอดจนถึงภาคีเครือข่ายชุมชน เพื่อให้สามารถจัดการปัจจัยแวดล้อมในพื้นที่ และกำหนดมาตรการส่งเสริมและควบคุมปัจจัยเสี่ยงของสุขภาพได้อย่างเหมาะสม ในฐานะผู้รับผิดชอบ การขับเคลื่อนนโยบายและแผนสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพระดับประเทศ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และสามารถบูรณาการยุทธศาสตร์ระหว่างกรมอนามัย และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นระบบเพื่อเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดในการปฏิบัติงาน โดยมีบทบาทดังนี้

1.  การรับฟังและหารือมาตรการ แนวทางร่วมกันระหว่างกรมอนามัย สถานประกอบการและประชาชน
2.  การบรูณาการแผนและมาตรการร่วมกันระหว่างกรมอนามัยและเครือข่าย
3.  การลงเยี่ยมสำรวจ ประเมินมาตรการแผนงานร่วมกัน
4.  การรายงานผลและคืนข้อมูลเพื่อชี้เป้า เสนอแนะและพัฒนางาน
5.  การสื่อสารสู่สาธารณะ ภาพลักษณ์ กรมอนามัยและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

5. อนามัยมีเดีย เว็บไซต์รวบรวมสื่อสร้างความรอบรู้ของกรมอนามัย

อนามัยเดีย เป็นเว็บไซต์ที่ใช้เก็บรวบรวมสื่อความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพตามกลุ่มวัย ตั้งแต่กลุ่มวัยสตรีและเด็กปฐมวัย วัยเรียนวัยรุ่น วัยทำงาน จนถึงวัยผู้สูงอายุ ในเรื่องอาหาร ออกกำลังกาย ทันตสุขภาพ อนามัยการเจริญพันธุ์ และอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี ในเรื่อง การจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อ สุขาภิบาลอาหารและน้ำ สิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ฝุ่น PM2.5 ภาวะโลกร้อน เป็นต้น โดยรวบรวมสื่อใหม่ ของกรมอนามัยทุกประเภทที่กระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงานวิชาการมารวมอยู่ที่ฐานข้อมูลเดียวกัน

อนามัยมีเดีย เป็นการจัดการความรู้ ให้เป็นระบบ (Knowledge Organization) โดยมีการวางโครงสร้างความรู้กำหนดวิธีการจัดเก็บและการค้นสื่อของกรมอนามัย เพื่อให้การสืบค้น เรียกคืน หรือนำไปใช้อย่างสะดวก และมุ่งเน้นการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนมีช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารสุขภาพที่ถูกต้องและเป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลด้านสุขภาพของประเทศที่น่าเชื่อถือ โดยให้ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาสุขภาพที่สำคัญของคนไทยอย่างถูกต้อง ทันเหตุการณ์ รวมทั้งเป็นช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้แยกหมวดหมู่การสืบค้นเป็นสาระสุขภาพตามกลุ่มวัย COVID-19 ข่าวสื่อมวลชน สำหรับภาคี แยกการให้บริการข้อมูลตามประเภทสื่อ เช่น บทความ คลิปวิดิโอ อนามัยตูน อินโฟกราฟิก เพื่อให้ประชาชนสามารถสืบค้นได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และมีสื่อที่หลากหลายสำหรับให้บริการตามความต้องการที่แตกต่างกัน

ผู้ใช้บริการอนามัยมีเดีย สามารถเข้าถึงความรู้ที่ต้องการได้ง่ายและสะดวก ผ่านฐานข้อมูลการสื่อสารสุขภาพที่รวมที่ศูนย์กลางเดียวกัน ด้วยรูปแบบเว็บไซต์สวยงาม สะดวกต่อการใช้งาน รองรับการแสดงผลหลายอุปกรณ์ (Responsive) มีการเพิ่มความเร็วให้กับเว็บไซต์ เพื่อลดเวลาการโหลดหน้าเว็บไซต์ มีความน่าเชื่อถือ และถูกใช้เป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลของเว็บไซต์สำนักข่าวต่างๆ รวมถึงเว็บเพจอื่นๆ อย่างกว้างขวาง ทำให้มียอดคนเข้าใช้อนามัยมีเดียเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งผู้ใช้รายใหม่ และผู้ใช้รายเดิม เริ่มจากปี พ.ศ. 2556 มีผู้เข้าใช้ 41,974 คน เพิ่มขึ้นเป็น 393,262 คน ในปัจจุบัน โดยในปี 2564 มีจำนวนผู้เข้าถึงข้อมูลในเว็บไซต์อนามัยมีเดียทั้งหมด 1,204,419 คน

ปรัชญาการพัฒนาเว็บไซต์อนามัยมีเดีย เป็นการนำความรู้ที่ได้จากการแบ่งปันแลกเปลี่ยนหรือสืบค้นไปใช้ประโยชน์ในการทำงานของบุคลากร และผู้สนใจข้อมูลสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้เกิดระบบการเรียนรู้จากวงจร “สร้างองค์ความรู้ >นำความรู้ไปใช้ >เกิดการเรียนรู้และประสบการณ์ใหม่ และหมุนเวียนต่อไปอย่างต่อเนื่อง” ที่สำคัญคือ เว็บไซต์อนามัยมีเดีย เป็นแหล่งรวมสื่อสร้างความรอบรู้ของประเทศไทย