เรื่อง ส้วมไทย ใครว่าธรรมดา
วันที่ 3 สิงหาคม 2559
เวลา 14.30-16.30 น.
• นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดมาตรฐานขั้นพื้นฐานส้วมสาธารณะ 3ประการ ได้แก่ 1. สุขลักษณะ (Healthiness) 2.ความเพียงพอ (Accessibility) 3.ความปลอดภัย (Safety) หรือที่เรียกว่า HAS และส่งเสริมให้มีส้วมนั่งราบ สำหรับผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ และผู้ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว การพัฒนาส้วมสาธารณะ ใน 12 Settings ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างดี อีกทั้งได้สนับสนุนการพัฒนาส้วมภายใต้โครงการสุขอนามัยเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และมีเป้าหมายต่อไปในแผนพัฒนาส้วมสาธารณะไทยระยะที่ 4 พ.ศ. 2560-2564 ประเทศไทยจะเป็นผู้นำอาเซียนในการพัฒนาส้วมสาธารณะ
• นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวถึงการขับเคลื่อนการพัฒนาส้วมสาธารณะของจังหวัดนราธิวาส เริ่มจากในพื้นที่มีอัตราป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงสูงเป็นอันดับ 1 อย่างต่อเนื่องทุกปี ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงมีนโยบายให้พัฒนาส้วมให้สะอาด ได้มาตรฐาน HASและได้พัฒนาต่อยอดจากเกณฑ์มาตรฐาน HAS อีก 3 ข้อ ได้แก่ ความสวยงาม (Beautiful) การใช้งานสะดวก (Easy ) และความสอดคล้องกับบริบทและวัฒนธรรม (Consistency)
โดยเน้นการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่าย และสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นำไปสู่ความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง และได้รับรางวัลสุดยอดส้วม ระดับประเทศ 4 ปีซ้อน
• คุณอรพิน ศิริจิตเกษม ผู้จัดการทั่วไป สายสื่อสารองค์กรและกิจการสังคม บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง การพัฒนาส้วมเป็นส่วนหนึ่งของการทำ CSR จึงจัดทำโครงการปรับปรุงส้วมในโรงเรียนให้ได้มาตรฐาน HAS และสร้างความตระหนักในการใช้และดูแลรักษาส้วม ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๔๙ ถึงปัจจุบัน ครอบคลุม ๔๖ จังหวัด มีโครงการสำคัญ ได้แก่ 1.โครงการห้องน้ำของหนู เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เด็กนักเรียนให้มีห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะและให้ความรู้ในการดูแลรักษาส้วม 2. โครงการห้องน้ำเพื่อสังคมและผู้สูงอายุ เป็นการปรับปรุงส้วมในสวนสาธารณะ สำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการและประชาชนทั่วไป
• วิทยากรกล่าวฝากให้กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินงานพัฒนาส้วมสาธารณะอย่างต่อเนื่อง และเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการพัฒนาส้วมสาธารณะไทย เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี