คุณกำลังมองหาอะไร?

ปิดครก ถลกครัว กับอาจารย์ยิ่งศักดิ์

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

22.09.2563
15
0
แชร์
22
กันยายน
2563
 
เปิดครก ถลกครัว กับอาจารย์ยิ่งศักดิ์
วันที่ 5 สิงหาคม 2559
โดย ดร.ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์
 
 
     อาจารย์ยิ่งศักดิ์ ลูกแม่ค้าขายข้าวแกงแถวฝั่งธน เป็นผู้มีความผูกพันกับงานครัวและงานอาหารตั้งแต่อายุ 4 ขวบ จึงนับได้ว่าชีวิตอาจารย์อยู่กับครัวมาตลอด วันนี้อาจารย์ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดเห็นของผู้ประกอบการเกี่ยวกับงานสุขาภิบาลอาหาร และการทำงานของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลปากท้องของคนทั้งประเทศ อาจารย์เริ่มต้นด้วยการชี้ประเด็นมาตรฐานของต่างประเทศที่มีความจริงจัง โดยยกตัวอย่าง การบริการส่งอาหาร หรือการประกอบธุรกิจร้านอาหารไม่ได้มาตรฐาน เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจสั่งปิดร้านได้ 7 วัน เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับปรุงร้านได้ แต่กรณีของประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วด้านการท่องเที่ยว มีการเข้ามาของแรงงานต่างชาติ มีเสรีภาพในการประกอบธุรกิจร้านอาหาร และอาหารริมบาทวิถี แต่องค์ความรู้ด้านสาธารณสุข ความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การขึ้นทะเบียนการค้า การออกใบอนุญาต การควบคุมดูแลด้านสุขอนามัยของร้านอาหารที่มีผู้ประกอบการเป็นชาวต่างชาติ เป็นต้น ยังไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง หน่วยงานยังทำงานในลักษณะ Food service อยู่ จึงอยากให้เปลี่ยนมาทำงานในลักษณะ Creative แทน
 
สิ่งดีๆ ที่ฝากไว้...จากอาจารย์ยิ่งศักดิ์
 
     1. ทิศทางการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขต้องเตรียมการเกี่ยวกับบุคลากร ทั้งด้านจำนวนและองค์ความรู้ที่ทันสมัย มีการวิจัยทางด้านอาหาร ซึ่งต้องทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม เช่น เทคนิคการประกอบอาหาร นวัตกรรมด้านสุขาภิบาลอาหาร ความปลอดภัยอาหาร การใช้สารปรุงแต่งและวัตถุเจือปนอาหารชนิดต่างๆ และควรมีการใช้งบประมาณลงไปถึงผู้ประกอบการโดยตรงไม่ต้องผ่านชมรม เนื่องจากอาจไม่ได้กลุ่มเป้าหมาย หรือใช้งบประมาณไม่ตรงตามวัตถุประสงค์
     2. นวัตกรรมงานครัว เช่น การใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างถูกต้องกับประเภทของอาหาร การใช้ไมโครเวฟ อันตรายจากสารเคลือบภาชนะ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากสารเคมีจากอุปกรณ์ที่ใช้ลงสู่อาหาร จึงต้องการให้กระทรวงสาธารณสุขได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และมีการบูรณาการกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
 
     3. ผู้สัมผัสอาหาร ต้องผ่านการตรวจสุขภาพ มีการตรวจโรคที่สามารถติดต่อผ่านทางอาหารและน้ำ และที่สำคัญผู้สัมผัสอาหารต้องมีองค์ความรู้ที่จำเป็น โดยกระทรวงสาธารณสุขควรกำหนดหลักสูตรภาคบังคับสำหรับผู้สัมผัสอาหาร และมีการตรวจสอบแนะนำความถูกต้องครบถ้วนของหลักสูตรของสถาบันที่เปิดสอนการทำอาหาร สำหรับผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมแล้วควรมีการออกวุฒิบัตร ใบประกอบวิชาชีพ ที่จะประกันได้ว่ามีองค์ความรู้เหมาะสมที่จะไปประกอบธุรกิจได้ รวมถึงสามารถเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแก่ผู้เปิดธุรกิจใหม่ และอาจต่อยอดโดยแบ่งความรู้เป็นบทย่อย แทรกเข้าไปอยู่ในบทเรียนระดับชั้นประถม เพื่อปูพื้นฐานด้านสุขาภิบาลอาหารให้แก่เด็ก
 
     4 กฎหมาย มาตรฐาน กระทรวงสาธารณสุขควรมีการออกกฎระเบียบเรื่อง สุขลักษณะผู้สัมผัสอาหาร การปรุงประกอบอาหารที่ถูกสุขอนามัยตามมาตรฐานครัวไทย และไม่นำกฎหมายอาหารจากต่างประเทศเข้ามาใช้ โดยไม่ปรับให้ถูกกับบริบทของประเทศไทย
 
     5. งานประชาสัมพันธ์ ควรมีการลงทุนให้มากขึ้น เช่น การทำรายการโทรทัศน์ นำเสนอตัวอย่างที่ดี และที่ไม่ดี รวมถึงบทลงโทษที่จะได้รับ การทำงานแบบบอกต่อๆ กัน ทำให้การสื่อสารไม่มีประสิทธิภาพ
 
     6. สิ่งสำคัญที่สุด คือ การสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อผู้บริโภคและสังคมของผู้ประกอบการอาหาร ที่จะปรุงประกอบอาหารที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย และไม่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน