กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
วันนี้ (13 มกราคม 2568) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสราวุธ อ่อนละมัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย ลงพื้นที่เยี่ยมศูนย์เล็กเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง พร้อมมอบมุ้งสู้ฝุ่น หน้ากากกันฝุ่น เนื่องจากเป็นกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ ณ ชุมชนตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในจังหวัดนนทบุรีที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณฝุ่น PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน (สีส้ม) สูงกว่า 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 7- 9 มกราคม 2568 ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 75.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) สำหรับวันนี้แม้ว่า สถานการณ์ฝุ่นจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่จากการคาดการณ์ พบว่า ในวันที่ 14–15 มกราคม 2568 ฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากสภาพอากาศปิดและมีอัตราการระบายอากาศต่ำ ส่งผลให้มีฝุ่นสะสม ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการและมีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานของสาธารณสุขเร่งสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชน แจ้งเตือนประชาชน ลดและป้องกันผลกระทบกลุ่มเปราะบางในพื้นที่เสี่ยงจาก PM2.5 รวมทั้ง การจัดทำห้องปลอดฝุ่น ซึ่งประชาชนสามารถทำเองได้ที่บ้าน แต่ยังมีกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มที่ไม่สามารถทำห้องปลอดฝุ่นได้ “มุ้งสู้ฝุ่น” จึงถือเป็นทางเลือกในการช่วย
ลดผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5
กระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุน “มุ้งสู้ฝุ่น” ไปแล้วกว่า 1,400 ชุด กระจายใน 35 จังหวัด “มุ้งสู้ฝุ่น” เป็นนวัตกรรมที่ดัดแปลงมุ้งผ้าฝ้าย พร้อมกับกรองอากาศที่สะอาดผ่านเครื่องกรองอากาศเข้าไปภายในมุ้ง เกิดเป็นสภาพห้องแรงดันบวกขึ้น ทำให้ดันฝุ่นออกมานอกมุ้งและกันไม่ให้ฝุ่นลอดเข้ามาในมุ้ง ให้มีลักษณะคล้ายกับ "แอร์มุ้ง" ซึ่งสามารถลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ได้กว่า 70% ประเทศไทยมีกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานกว่า 40,000 ราย “มุ้งสู้ฝุ่น” จะช่วยให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง และกลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคผิวหนัง โรคเยื่อบุตา โรคหอบหืด และโรคมะเร็งปอด ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูง สามารถสร้างพื้นที่ปลอดฝุ่นภายในบ้านได้ การจัดทำ “มุ้งสู้ฝุ่น” ใช้งบประมาณไม่เกิน 5,000 บาทต่อชิ้น และจะช่วยลดค่าใช้จ่าย หากต้องมีการรักษาพยาบาลได้ โดยค่ารักษาพยาบาล เฉลี่ยเกินกว่า 50,000 บาทต่อราย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วง PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กระทรวงสาธารณสุขขอให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ดูแลและป้องกันสุขภาพ ดังนี้ 1) ติดตามสถานการณ์ PM2.5 ก่อนออกจากบ้าน จากแอปพลิเคชัน “Air4Thai” หรือ “AirBKK” หรือ “Life Dee” หรือประกาศแจ้งเตือนจากสื่อต่าง ๆ และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด 2) สังเกตอาการ และเฝ้าระวังตนเอง หากมีอาการไอบ่อย หายใจลำบาก แน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ มีผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ 3) ในช่วงที่ฝุ่นละอองสูง ควรอยู่ในอาคาร หรือลดระยะเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้าน 4) ถ้าอยู่ในพื้นที่ฝุ่นสูงเกินค่ามาตรฐานหรือจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงฝุ่นสูง ให้ใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น เช่น หน้ากาก N95 หรือหน้ากากอนามัย และต้องใส่ให้ถูกวิธี 5) หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง และห้ามใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นทุกชนิดขณะออกกำลังกายโดยเด็ดขาด ควรเปลี่ยนมาออกกำลังกายในบ้านหรืออาคารแทน 6) ดูแลสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ 7) ผู้มีโรคประจำตัว ควรสำรองยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 8) อยู่ในห้องปลอดฝุ่น หรือมุ้งสู้ฝุ่น โดยเฉพาะบ้านที่มีกลุ่มเสี่ยง 9) รักษาสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้สะอาด เช่น ทำความสะอาดบ้าน โดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดถูบ่อย ๆ รวมถึงมีส่วนร่วมในการลดฝุ่น เช่น ไม่เผาขยะ/ใบไม้ ลดการจุดธูป ตรวจเช็กสภาพรถยนต์ให้อยู่ในสภาพดี ไม่ก่อให้เกิดควันดำลดการใช้น้ำมันดีเซล ใช้รถสาธารณะ ปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและช่วยดักฝุ่น
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนมุ้งสู้ฝุ่น เพื่อให้กลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้ป่วยติดเตียงได้ป้องกันตนเองจาก PM2.5 การลงพื้นที่ชุมชนตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางงพูด ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนผาสุกมณีจักรมิตรภาพที่ 116 เพื่อมอบมุ้งสู้ฝุ่น หน้ากากกันฝุ่น ให้อาสาสมัครสาธารณสุข และผู้แทนชุมชนนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง รวมทั้ง บ้านที่มีเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นกลุ่มเปราะบางเสี่ยงป่วยได้ง่าย ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด หากพบอาการ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด ให้รีบพาไปพบแพทย์ สามารถประเมินอาการจากการรับสัมผัสฝุ่นละออง เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพของเด็ก ได้ที่ https://4health.anamai.moph.go.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมอนามัย 1478
***
กรมอนามัย / 13 มกราคม 2568