คุณกำลังมองหาอะไร?

เดชอิศม์’ ทวงคืนส้วมสะอาด จับมือ กรมอุทยานฯ เตรียมพัฒนาส้วม 156 แห่ง

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

15.11.2567
121
0
แชร์
15
พฤศจิกายน
2567

           กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมอนามัย ร่วมกับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตั้งเป้าพัฒนาส้วมสาธารณะอุทยานแห่งชาติ 156 แห่ง รองรับนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมลงนามความร่วมมือ (MOU) และรณรงค์วันส้วมโลก (World Toilet Day) สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหาส้วมและสุขาภิบาล รวมถึงจัดการสิ่งปฏิกูลจากส้วมอย่างถูกต้อง ณ อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ โดยมี แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายอนุวรรตน์ โหมดพริ้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ประชาชน และนักท่องเที่ยว ร่วมงาน
          วันนี้ (15 พฤศจิกายน 2567) นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดี กระทรวงสาธารณสุขจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาส้วมและอนามัยสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยวของประเทศให้ได้มาตรฐาน เพราะส้วมสาธารณะเป็นสถานที่ที่ประชาชนใช้บริการร่วมกันเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น แหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน สถานีขนส่ง โรงพยาบาล โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย ถือว่ามีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญระดับโลก ทั้งภูเขา และทะเล หากส้วมสาธารณะไม่สะอาด ไม่ถูกสุขลักษณะ ระบบจัดการสิ่งปฏิกูลไม่ดี แตก รั่วซึม นอกจากจะไม่น่าใช้บริการแล้ว ยังกลายเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรคอีกด้วย ในวันนี้ จึงนับเป็นโอกาสดีที่ กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมอนามัย ร่วมกับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงนามความร่วมมือการพัฒนามาตรฐานส้วมสาธารณะและแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการอุทยานแห่งชาติ
            “อีกทั้ง เนื่องในวันที่ 19 พฤศจิกายนของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็น “วันส้วมโลก” เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการสุขาภิบาลที่ปลอดภัยให้ทุกคนเข้าถึงส้วมที่สะอาด มีสุขอนามัยที่ดี โดยในปี 2567 กำหนดหัวข้อการรณรงค์ คือ “Toilets : A Place for Peace ส้วมไทยสะอาด ปลอดภัย ครอบคลุมทุกกลุ่มวัยสู่เป้าหมาย SDGs” เพื่อให้ทุกภาคส่วนตระหนักและมีส่วนร่วมในการจัดการส้วมและสุขาภิบาลที่ปลอดภัย มีการพัฒนาส้วมสาธารณะให้ได้มาตรฐานสะอาด เพียงพอ และปลอดภัย ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มวัย ทั้งเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และที่สำคัญ ต้องมีการจัดการสิ่งปฏิกูลจากส้วมอย่างถูกต้อง” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
             แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมอนามัยได้เริ่มดำเนินการให้ประเทศไทยมีและใช้ส้วมในครัวเรือนตั้งแต่ปี 2503 ส่งผลให้ปัจจุบัน ครัวเรือนมีส้วมถูกหลักสุขาภิบาลครอบคลุมร้อยละ 99.8 และหันมาให้ความสำคัญในการพัฒนาส้วมสาธารณะในปี 2547 ส่งผลให้ปัจจุบัน มีส้วมสาธารณะที่ผ่านมาตรฐาน HAS (Health Accessibility Safety) สะอาด เพียงพอ และปลอดภัย ร้อยละ 86.0 โดยมุ่งเน้นในสถานที่สาธารณะ 12 ประเภท ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร ตลาด สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานที่ราชการ ศาสนสถาน สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง สถานีขนส่ง ห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ และส้วมริมทาง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงส้วมสะอาด ปลอดภัย รวมทั้ง ส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมด้านสุขอนามัยและการใช้ส้วมที่ถูกต้อง
            ด้านนายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอนามัย และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ร่วมมือในการพัฒนาส้วมสาธารณะและอนามัยสิ่งแวดล้อม ของอุทยานแห่งชาติ ให้ได้มาตรฐาน HAS (Health Accessibility Safety) พร้อมรับรองป้าย “HAPPY TOILET ส้วมสะอาด ได้มาตรฐาน และมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (GREEN Health Attraction : GHA) เพื่อสร้างความมั่นใจกับนักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการอุทยานแห่งชาติ โดยจะจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมต่อไป

***


กรมอนามัย / 15 พฤศจิกายน 2567

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน