กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ย้อนเหตุภัยฉุกเฉินโรงงานระเบิด-สารเคมีรั่วไหล ย้ำมาตรการที่ทุกหน่วยงานต้องเตรียมพร้อม แนะประชาชนควรติดตามข่าวสาร สถานการณ์และปฏิบัติตนตามคำแนะนำด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขของประเทศไทยในปี 2567 ผลการดำเนินงานปฏิบัติภารกิจของทีมปฏิบัติการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือทีม SEhRT ศูนย์อนามัยทั่วประเทศ พบว่าเกิดภัยฉุกเฉินทั้งหมด จำนวน 724 ครั้ง ประกอบด้วย อุทกภัย ภัยร้อน ภัยแล้ง ภัยจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และภัยพิบัติอื่น ๆ โดยเกิดสถานการณ์โรงงานสารเคมีรั่วไหล ระเบิด และเกิดเพลิงไหม้ จำนวน 65 ครั้ง ได้แก่ เหตุโรงงานผลิตพลุระเบิด เหตุเพลิงไหม้โกดังเก็บสารเคมี เหตุสารเคมีรั่วไหล เป็นต้น ซึ่งมีแนวโน้มเกิดสถานการณ์และความรุนแรงเพิ่มขึ้น กรมอนามัย มีความกังวลถึงสุขภาพประชาชนและเจ้าหน้าที่จึงมีข้อแนะนำแนวทางปฏิบัติในการป้องกันสารมลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ กรณีภาวะฉุกเฉินจากสารเคมีรั่วไหล ระเบิด และเกิดเพลิงไหม้ สำหรับเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติได้ดังนี้ 1) เตรียมทีมปฏิบัติการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือทีม SEhRT ในระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น ปฏิบัติภารกิจรองรับภาวะฉุกเฉินในระดับพื้นที่ 2) จัดทำฐานข้อมูลพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ประสบภัยในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้ทราบพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมความพร้อมรองรับภาวะฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ 3) ท้องถิ่น ควบคุม กำกับ สถานประกอบการหรือสถานที่พื้นที่เสี่ยงภัยในพื้นที่รับผิดชอบ ดำเนินการตรวจสอบ จัดการด้านสุขลักษณะ ความปลอดภัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานตามกฎหมาย 4) สื่อสารสร้างความรอบรู้ให้คำแนะนำการปฏิบัติตน ป้องกัน ลดผลกระทบต่อสุขภาพแก่ประชาชน เช่น การสวมหน้ากากป้องกันสารเคมี เป็นต้น
แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับประชาชนสามารถปฏิบัติตน ลดความเสี่ยงทางสุขภาพดังนี้ 1) ติดตามข่าวสาร สถานการณ์การแจ้งเตือนภัยสุขภาพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด 2) หมั่นสังเกตความผิดปกติของโรงงานเสี่ยงใกล้บ้าน หากมีความผิดปกติ รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้เข้ามาดำเนินการระงับเหตุทันที 3) กรณีเกิดเหตุโรงงานสารเคมีรั่วไหล ระเบิด และเกิดเพลิงไหม้ หรือมีการแจ้งเตือนอพยพ ให้รีบอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบไปอยู่ในที่ปลอดภัยทันที และ 4) ดูแลและเฝ้าระวังสุขภาพกลุ่มเสี่ยงกลุ่มเปราะบางภายในบ้าน สำหรับประชาชนในพื้นที่โรงงาน ขอให้ปฏิบัติตนตามคำแนะนำด้านสุขภาพจากเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุ และหากได้รับผลกระทบ ขอให้รีบปรึกษาเจ้าหน้าที่และไปพบแพทย์เพื่อรักษาทันที
“ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์ภัยฉุกเฉินจากโรงงานสารเคมีรั่วไหล ระเบิด และเกิดเพลิงไหม้ซ้ำได้อีกในอนาคต กรมอนามัย มีข้อแนะนำสำหรับหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการประเมินความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงประกอบกิจการในชุมชน ตรวจสอบด้านสุขลักษณะการประกอบกิจการให้เป็นไปตามมาตรฐานมีกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย และมาตรการควบคุมป้องกันภาวะฉุกเฉินที่เกิดจากโรงงาน เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของประชาชน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย /3 พฤศจิกายน 2567