คุณกำลังมองหาอะไร?

รมอนามัย ส่งทีม SEhRT ศูนย์อนามัย ลงพื้นที่ช่วยน้ำท่วม สนับสนุนชุดปรับปรุงคุณภาพน้ำและอุปกรณ์ยังชีพ พร้อมเฝ้าระวังด้านสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมในศูนย์พังพิง

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

24.08.2567
128
0
แชร์
24
สิงหาคม
2567

           วันนี้ (24 สิงหาคม 2567) นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ข้อมูลวันที่ 24 สิงหาคม 2567 รายงานพื้นที่ประสบอุทกภัย จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ เพชรบูรณ์ อุดรธานี ภายในพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์อนามัย จำนวน 3 ศูนย์อนามัย แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย มีความห่วงใยสุขภาพของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่ประสบภัย จึงมอบหมายทีม SEhRT ศูนย์อนามัย ปฏิบัติภารกิจการจัดการสุขาภิบาลพื้นฐานและอนามัยสิ่งแวดล้อม ร่วมกับทีมระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น ดังนี้ 1) สำรวจ ประเมินความเสี่ยงการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำดื่มน้ำใช้ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและในศูนย์อพยพ 2) สนับสนุนทีม SEhRT ระดับจังหวัด โดยจัดส่งวัสดุอุปกรณ์ชุดทดสอบการปนเปื้อนเชื้อโรคและชุดปรับปรุงคุณภาพน้ำและการจัดการสิ่งปฏิกูล ได้แก่ ชุดเราสะอาด (V-Clean) ชุดดูแลสุขอนามัย (Sanitation tool kit) รวมทั้งยาสามัญประจำบ้านสำหรับประชาชนที่ประสบภัย 3) สื่อสาร เสริมสร้างความรู้ในการดูแลป้องกันสุขภาพของประชาชนผ่านการสื่อสารช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลปกป้องคุ้มครองสุขภาพของตัวเองและคนในครอบครัว และส่งเสริมให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่ออยู่ในพื้นที่ที่มีคนจำนวนมาก เช่น ในศูนย์อพยพหรือศูนย์พักพิงชั่วคราว

           “สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัย ขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อย่างใกล้ชิดดูแลสุขอนามัยของตนเองและคนในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำเพื่อป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม เช่น โรคฉี่หนู โรคน้ำกัดเท้า โรคเชื้อราบนผิวหนัง  และเลือกกินอาหารปรุงสุกใหม่ สำหรับอาหารที่ได้รับจากการบริจาค หากพบว่ามีกลิ่นผิดปกติ เหม็นบูด ไม่ควรนำมารับประทาน และหากเป็นอาหารแปรรูป ควรตรวจดูสภาพผลิตภัณฑ์ เช่น สี กลิ่น กระป๋องหรือภาชนะบรรจุต้องปิดสนิท ไม่ฉีกขาด ไม่ปูดบวมหรือเป็นสนิม และสังเกตวันหมดอายุก่อนนำมาบริโภคเพื่อความปลอดภัย และควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนกินและหลังใช้ห้องน้ำห้องส้วม ทั้งนี้ หากอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยหรือมีสิ่งอันตราย ควรรีบออกจากพื้นที่น้ำท่วมและไปยังศูนย์อพยพที่หน่วยงานภาครัฐจัดเตรียมไว้ให้ ส่วนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเสี่ยงการเกิดสถานการณ์น้ำท่วมจากมวลน้ำจำนวนมากที่ไหลจากภาคเหนือเข้าไปยังจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ขอให้เตรียมพร้อมยกสิ่งของขึ้นที่สูง เตรียมยารักษาโรคและอาหารแห้ง สิ่งของจำเป็นให้พร้อม เพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นได้อย่างปลอดภัย ลดเสี่ยงโรค” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว  

***

กรมอนามัย / 24 สิงหาคม 2567

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน