คุณกำลังมองหาอะไร?

รมอนามัย แนะคอนโด-อาคารพาณิชย์ หมั่นตรวจคุณภาพน้ำ หลังพบเหตุชาวคอนโด ตาอักเสบ เร่งส่งทีมร่วมกับกทม.ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

12.07.2567
181
1
แชร์
12
กรกฎาคม
2567

          กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ 5 ขั้นตอน คอนโดและอาคารพาณิชย์หมั่นตรวจสอบคุณภาพน้ำประปา หลังพบผู้พักอาศัยในอาคารชุด เกิดโรคเยื่อบุตาอักเสบจำนวนหลายราย เร่งส่งทีมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำแล้ว
          แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีมีผู้พักอาศัยภายในอาคารชุดแห่งหนึ่งย่านเขตจตุจักร เกิดโรคเยื่อบุตาอักเสบจำนวนหลายราย จากการใช้น้ำภายในอาคาร เนื่องจากน้ำเป็นสิ่งที่ต้องใช้โดยตรงกับร่างกาย หากมีการจัดการน้ำที่ไม่ถูกวิธีหรือมีสารหรือการปนเปื้อน อาจทำให้เกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะคอนโด หอพัก อพาร์ทเม้นท์ อาคารสำนักงาน ที่จะมีการเก็บน้ำประปาไว้บนอาคารสูง โดยมากจะมีบ่อสำรองน้ำใต้ดินก่อนเพื่อเก็บน้ำประปาก่อนที่จะสูบน้ำขึ้นไปพักไว้ในถังพักชั้นบน แล้วจ่ายให้แก่ผู้พักอาศัยตามห้องต่างๆ กรมอนามัย จึงแนะนำให้นิติบุคคลหรือผู้ดูแลอาคารดูแลรักษาระบบเก็บน้ำหรือถังพักน้ำ ในอาคาร เพื่อให้คุณภาพน้ำสะอาดอยู่เสมอ ดังนี้ 1) สำรวจสถานที่ตั้งของ ถังเก็บน้ำหรือถังพักน้ำ พื้นที่ตั้งควรมีขอบเขตชัดเจนมีหลังคาคลุม พื้นที่ตั้งต้องสะอาด ไม่มีน้ำขัง ไม่มีสิ่งของวางเกะกะรกรุงรังสามารถป้องกันสัตว์นำโรค เช่น สุนัข แมว นก หนู หรือสัตว์เลื้อยคลาน เข้าไปอาศัยได้ ถังน้ำไม่ควรตั้งกับพื้น ควรวางบนพื้นที่ยกระดับขึ้นมาประมาณ 15 เชนติเมตร มีแสงสว่างเพียงพอที่จะสามารถมองเห็นสิ่งผิดปกติในถังน้ำได้ และป้องกันไม่ให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปบริเวณดังกล่าว 2) เลือกและดูแลตัวถังน้ำ ต้องทำมาจากวัสดุที่ปลอดภัย เหมาะสมสำหรับบรรจุอาหาร เช่น สแตนเลส ไฟเบอร์กลาส พลาสติก เป็นต้น สภาพถังน้ำต้องสะอาด ไม่ชำรุดแตกร้าว โดยเฉพาะฝาปิดต้องอยู่ในสภาพดี พร้อมใช้งาน ถังน้ำบนดินที่ออกแบบอย่างถูกต้องควรมีช่องระบายน้ำทิ้งด้านล่างสุด เพื่อความสะดวกเวลาล้างทำความสะอาดถังก่อนนำน้ำประปามาใส่ในครั้งแรกควรทำความสะอาดถังก่อนด้วยน้ำสะอาด และควรล้างถังน้ำอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ทุกๆ 6 เดือน โดยการขัดถูผนังด้านในด้วยแปรง จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด 2 ครั้งและในขั้นตอนสุดท้ายต้องใช้คลอรีนฆ่าเชื้อโรค เข้มข้น 50 ppm. แช่ถังทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที แล้วปล่อยทิ้งก่อนนำน้ำประปามาใส่ตามปกติ
          “3) รักษาคุณภาพน้ำ ส่วนมากอาคารสูงจะใช้น้ำประปา ซึ่งอาจจะเป็นน้ำประปาจากการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค ประปาของเทศบาลหรือประปาองค์การบริหารส่วนตำบล โดยคุณภาพน้ำจากระบบผลิต น้ำประปานั้นส่วนใหญ่ได้มาตรฐานทั้งทางด้านกายภาพ เคมี และแบคทีเรีย นอกจากนั้นยังมีคลอรีนอิสระในน้ำหลงเหลืออยู่ 0.2-0.5 ppm. แต่เมื่อนำมาใส่ถังน้ำสำรองคลอรีนอิสระในน้ำนี้ก็จะสลายหายไปจนไม่มีเหลือเลย ดังนั้นผู้ดูแลต้องเช็คปริมาณคลอรีนคงเหลืออยู่เสมอ โดยเฉพาะถังเก็บน้ำหรือถังพักน้ำบนอาคาร หากไม่พบควรจะมีการเติมคลอรีนเพิ่มให้มีคลอรีนอิสระคงเหลือไม่ต่ำกว่า 0.2 ppm. ตลอดเวลา4) จัดให้มีผู้ดูแล เจ้าหน้าที่หรือผู้ดูแลควรได้รับการอบรมความรู้ในด้านการจัดการคุณภาพน้ำ เช่น วิธีการเติมคลอรีนในน้ำ การล้างถังที่ถูกต้อง การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำด้วยเครื่องมือหรือชุดทดสอบภาคสนาม 5) มีการป้องกันสัตว์นำโรค นอกจากบริเวณดังกล่าวควรมีรั่วรอบขอบชิดแล้ว หากมีหลังคาคลุมควรมีการป้องกันพวกนก หนู เข้าไปทำรังหรือพักอาศัย เช่น มีตาข่ายกั้น ป้องกันนกไปทำรังหรืออาศัยเวลากลางคืน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

          แพทย์หญิงอัจฉรา กล่าวในตอนท้ายว่า กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมืองลงพื้นที่ ร่วมกับสำนักอนามัย สำนักงานเขตจตุจักร ศูนย์บริการสาธารณสุข 51 จตุจักร กรุงเทพมหานคร และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เก็บตัวอย่างน้ำอุปโภค จำนวน 7 ตัวอย่าง พบคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำ ระหว่าง 0.2-0.5 ppm 6 ตัวอย่าง และไม่พบคลอรีนอิสระในน้ำ 1 ตัวอย่าง และได้ให้คำแนะนำนิติบุคคลอาคารชุดให้ดำเนินการตรวจสอบรอยรั่วของระบบน้ำ ล้างถังพักน้ำท่อน้ำ และสระว่ายน้ำด้วยวิธี Chlorine shock การสื่อสารสร้างการรับรู้กับผู้อาศัย และการติดตามการตรวจทางห้องปฏิบัติการหลังดำเนินการตามมาตรการ ซึ่งทางสำนักงานเขตจตุจักรจะเร่งดำเนินการตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550) เพื่อกำกับติดตามให้นิติบุคคลอาคารชุดดำเนินการตามมาตรการต่อไป สำหรับเชื้อปรสิตสามารถที่พบในแหล่งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำทะเล และน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่การได้รับเชื้อจะได้รับโดยบังเอิญ และหากมีการติดเชื้อในระบบหายใจจะทำให้ปอดอักเสบติดเชื้อทางบาดแผลทำให้เกิด โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ส่วนการติดเชื้อที่กระจกตาซึ่งมักพบในผู้ใส่คอนแทคเลนส์ทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา ตาแดง ปวดตา ถ้าเชื้อลุกลามอาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้ แต่หากเชื้ออะแคนทามีบาเข้าสู่ระบบเลือดอาจก่อเกิดโรคสมองอักเสบและอาจเสียชีวิตในที่สุด นอกจากนี้ยังมี ไมโครสปอริเดีย หรือปรสิตที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำเช่นเดียวกับอะแคนทามีบา ผู้ติดเชื้อจะเกิดอาการท้องเสียเป็นน้ำ และเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ นอกจากนี้ ยังเป็นสาเหตุสำคัญของโรคอุจจาระร่วง ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติหลังจากสัมผัสน้ำหรือการใช้น้ำ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างทันท่วงที

***

กรมอนามัย / 12 กรกฎาคม 2567

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน