กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
วันนี้ (10 กรกฎาคม 2567) ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข อาคาร 3 ชั้น 1 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดตลาดนัดสุขภาพ “จากเมนูชูสุขภาพ สู่ อาหารเป็นยา” พร้อมด้วย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และแขกผู้มีเกียรติ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายด้านสุขภาพ ด้วยการขับเคลื่อนโครงการที่เกี่ยวข้องกับงานส่งเสริมสุขภาพ โภชนาการ สุขาภิบาลอาหารและน้ำ และอาหารเป็นยา ในหลายหน่วยงาน เพื่อการมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีพฤติกรรมการบริโภคที่ดีของคนไทยให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีสุขภาพดี และเห็นถึงความสำคัญของการมีสุขภาพที่ดีของบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข และประชาชน กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เปิดตลาดนัดสุขภาพ “จาก เมนูชูสุขภาพ สู่ อาหารเป็นยา” ในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เป็นตลาดต้นแบบในการสร้างสิ่งแวดล้อมด้านสุขภาพที่เอื้อต่อการส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดี ผ่านการบริโภคอาหารที่ดี มีคุณค่า สะอาด ปลอดภัย ป้องกันและบรรเทาโรคได้อย่างมีประสิทธิผล โดยตลาดจะเปิดขายทุกวันพุธ โดยเริ่มตั้งแต่วันพุธที่ 10 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป เพื่อให้เกิดการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน และจะเป็นการดีหากสามารถขยายให้มีตลาดนัดสุขภาพ กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อประชาชนทุกกลุ่มวัยมีพฤติกรรมการบริโภคที่ดี
“ทั้งนี้ การบริโภคอาหารที่ดีของคนไทย เป็นปัจจัยที่สำคัญในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค คือ การมีแหล่งจับจ่ายซื้ออาหาร สินค้าที่มีความครอบคลุม และเหมาะสม ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ อีกทั้งเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ สะอาด ปลอดภัย ถูกต้องตามหลักโภชนาการ และมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันและบรรเทาโรคให้กับร่างกาย ตามเกณฑ์มาตรฐานสุขาภิบาลของตลาด และเกณฑ์มาตรฐานเมนูชูสุขภาพ ของกรมอนามัย เกณฑ์อาหารเป็นยาของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งการจัดให้มีพื้นที่ตลาดนัดทางด้านสุขภาพนี้ เพื่อเป็นตลาดต้นแบบส่งเสริมให้ประชาชนเกิดการรับรู้ และมีพื้นที่จำหน่ายอาหารและผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ” รัฐมนตรีว่าการทรวงสาธารณสุข กล่าว
ด้าน นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหารของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ปี 2566 พบว่า ประเทศไทยมีการบริโภคน้ำตาลทรายสูงถึง 1.7 ล้านตัน หรือประมาณ 18 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือ ไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน และจากข้อมูลสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า คนไทยบริโภคเกลือโซเดียมมากถึง 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเกณฑ์องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่าไม่ควรบริโภคเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน สำหรับภาวะสุขภาพของคนวัยทำงาน ด้านภาวะอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในประเทศไทย ปี 2562 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 3 อันดับแรก ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด 17.9 ล้านคน รองลงมาคือ โรคมะเร็ง 9.0 ล้านคน และโรคเบาหวาน 1.6 ล้านคน ซึ่งสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโรคดังกล่าว ได้แก่การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการบริโภคอาหาร หวาน มัน เค็มเกินเกณฑ์ที่กำหนด และหนึ่งในมาตรการในการแก้ปัญหานี้คือการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยการมีแหล่งจับจ่ายซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีความครอบคลุม และประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย
ด้าน แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ดำเนินการส่งเสริมสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มวัย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีการบริโภคอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ได้คุณค่าทางโภชนาการ จึงจัดให้มีตลาดนัดสุขภาพ “จาก เมนูชูสุขภาพ สู่ อาหารเป็นยา” ขึ้นในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างต้นแบบสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีพฤติกรรมการบริโภคที่ดีของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข และประชาชน พร้อมทั้งเป็นแหล่งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการขับเคลื่อนสู่สถานที่จำหน่ายอาหารและตลาดทั่วประเทศ ซึ่งตลาดต้องผ่านมาตรฐานด้านสุขาภิบาลอาหาร (SAN)โดยตลาดนัดสุขภาพแห่งนี้จะมีการจำหน่ายอาหารเมนูชูสุขภาพในทุกวันพุธของสัปดาห์ เพื่อเป็นสร้างมิติใหม่ของอาหารเมนูชูสุขภาพที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีรสชาติอร่อยได้คุณค่าทางโภชนาการ และมีคุณค่าทางสมุนไพร เพื่อให้คนไทยได้บริโภคอาหารที่ดี จนเกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อสุขภาพตามมา
“สำหรับวันนี้ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายภาคเอกชนที่เป็นร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ผ่านเกณฑ์รับรองเมนูชูสุขภาพ จากกรมอนามัย และผ่านเกณฑ์รับรองอาหารเป็นยา จากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมนำร้านที่ผ่านเกณฑ์เมนูชูสุขภาพ มาจัดจำหน่ายให้กับบุคลากรสาธารณสุขและ ผู้เข้าร่วมงาน จำนวน 15 ร้าน ได้แก่1) ร้านมังสวิรัติครัวคุณเชิญ เมนูหมี่กล้องต้มยำแพลนท์เบส ไข่ผำตุ๋นทรงเครื่อง ขนมจีนน้ำยาปู สลัดซุปเปอร์ฟูดส์ 2) อีส คาเฟ่ By Impact เมนูแซนด์วิชไข่ สลัดญี่ปุ่น น้ำอัญชันช่อดอกมะพร้าว 3) ร้านน้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ By กานดา เมนูน้ำบัวบก น้ำกระชาย 4) ร้านออร์แกนบายสมาร์ทไนน์ฟาร์ม ข้าวยำสมุนไพร น้ำบูดู น้ำเคลปั่น สลัดโรลต้นอ่อนผักบุ้ง 5) ราดหน้าเอ็มไพร์ท เมนูราดหน้าหมูนุ่ม ข้าวสวย ต้มจืดเลือดหมู 6) ร้านจำรัสสาคู เมนูถั่วแปบ 7) ร้านมิตรตรึม เมนูข้าวบาสมาติแกงถั่วอาระหัดดาล อลูติกกี้ 8) ร้านบังเอิญรวย
เมนูข้าวราดผัดผักรวมกุ้ง ข้าวสวยและแกงเลียงกุ้งสด 9) ร้านไอดินเฟรช เมนูข้าวสวยและไข่ยัดไส้อกไก่สับ 10) ร้านกรีกโยเกิร์ต เมนูกรีกโยเกิร์ต 11) ร้านจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมนูข้าวสวยและแกงเลียงกุ้งสด 12) ร้านเพ็ญศิริ ปราชญาสหคลินิก เมนูโจ๊กสมุนไพร น้ำเก๊กฮวยหล่อฮังก๋วย น้ำจับเลี้ยงหล่อฮังก๋วย 13) ร้านผักสลัดปลอดสารพิษ ได้แก่ ผักคอส เรคโอ๊ค กรีนโอ๊ค เรดปัตตาเวีย มะเขือเทศราชินีแดง 14) ร้านกอล์ฟผลไม้รสไม่หวานจัด เช่น ฝรั่ง แก้วมังกร แคนตาลูป และ15) ร้านชมรมจริยธรรม กรมอนามัย เมนูน้ำใบเตยหวานน้อย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 10 กรกฎาคม 2567