กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มวัยอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะผู้พิการซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางและต้องได้รับดูแลเป็นพิเศษ อีกทั้ง เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 รัฐบาลได้จัดโครงการและกิจกรรมเนื่องในวาระ มหามงคล โดยน้อมนำแนวพระราชดำริ และพระบรมราโชบายด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนคนไทยให้อยู่ดีมีสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้วางแนวทางและจัดทำหลักสูตรการส่งเสริมสุขภาพคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือ ร่างกายวัยทำงาน เพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้พิการให้สามารถดูแลตนเองได้ มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี รวมทั้งเสริมสร้างพลังและสร้างภาคีเครือข่ายในการดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพผู้พิการ และกลุ่มเปราะบาง โดยการพัฒนาศักยภาพนักส่งเสริมสุขภาพ ให้เป็นผู้นำในการส่งเสริมสุขภาพกลุ่มเปราะบาง เพื่อขับเคลื่อนรูปแบบการส่งเสริมสุขภาพของผู้พิการ หรือกลุ่มเปราะบางได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ ผู้ช่วยอธิบดีและผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจสถานการณ์คนพิการในประเทศไทย พบว่า มีคนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัว คนพิการ จำนวน 2,186,769 คน แบ่งเป็นเพศชายจำนวน 1,136,174 คน เพศหญิง จำนวน 1,050,595 คน มีประเภทความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกายมากที่สุดจำนวน 1,106,553 คน สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย จึงได้สำรวจข้อมูลสุขภาพคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกายวัยทำงาน (อายุระหว่าง 20 – 59 ปี) เมื่อปี 2565 จำนวน 400 คน พบว่า เพศชายร้อยละ 61.98 มีรอบเอวอยู่ในเกณฑ์ปกติ (รอบเอวไม่เกิน 90 เซนติเมตร) ส่วนเพศหญิงร้อยละ 60.58 มีรอบเอวเกินเกณฑ์ปกติ (รอบเอวเกิน 80 เซนติเมตร) ร้อยละ 47.50 มีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ พฤติกรรมการรับประทานอาหาร การจัดการความเครียด การออกกำลังกาย การดื่มสุราและสูบบุหรี่ การดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน ตลอดจนการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ
“กรมอนามัยจึงพัฒนาหลักสูตรการส่งเสริมสุขภาพคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกายวัยทำงาน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์และป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้องรัง (NCDs)โดยหลักสูตรประกอบด้วย 7 หน่วยการเรียนรู้ ประกอบด้วย 1) การประเมินสภาวะสุขภาพเบื้องต้นด้วยตนเอง 2) กินดี อยู่ดี สุขภาพดี 3) การเคลื่อนไหวการออกกำลังกาย 4) การจัดการกับอารมณ์ และความเครียด 5) การไม่สูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 6) การดูแลสุขภาพฟัน 7) การนอน เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกายวัยทำงาน ให้คนพิการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ลดภาวะพึ่งพิง และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ” นายแพทย์ปกรณ์ กล่าว
***
กรมอนามัย / 8 กรกฎาคม 2567