กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
วันนี้ (4 กรกฎาคม 2567) กระทรวงสาธารณสุขจัดการประชุมวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2567 “1 ทศวรรษ วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อคนไทยสุขภาพดี” (1 Decade of Environmental Health Day : Healthy Environment for Healthier Living) โดย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน พร้อมด้วยแพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัย และหน่วยงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม จัดพิธีถวายพระพร ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีและประกาศรางวัล “Princess Environmental Health Awards” สำหรับบุคคลและองค์ดีเด่นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมจัดกิจกรรมเนื่องในวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ภายใต้แนวคิด “1 ทศวรรษ วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อคนไทยสุขภาพดี” เพื่อให้ประชาชนไทยทุกคนได้สำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่เสียสละและทุ่มเทเพื่อสนับสนุนการพัฒนางานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยและภูมิภาคอย่างต่อเนื่องตลอดมา สำหรับปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ขอพระราชทานพระวโรกาสนำบุคคลและองค์กรดีเด่นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม เข้าเฝ้ารับพระราชทานรางวัล Princess Environmental Health Award ปี 2567 จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ประเภทองค์กรดีเด่นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม คือ เทศบาลเมืองยโสธร อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร และประเภทบุคคลดีเด่นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม คือ ดร.เปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก
ทางด้าน แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมอนามัยได้ขับเคลื่อนงานอนามัยสิ่งแวดล้อม สอดรับกับนโยบายและทิศทางการพัฒนาต่าง ๆ เพื่อสร้างมาตรฐานงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศ ดังนี้ 1) ยุคบุกเบิก : มุ่งเน้นการวางรากฐานงานสุขาภิบาล สร้างส้วม 100 เปอร์เซนต์ ให้ประชาชนเข้าถึงส้วมที่ถูกสุขลักษณะ พัฒนาเป็นส้วมใช้น้ำน้อยและมาตรฐานส้วม HAS ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างระบบประปาหมู่บ้าน ให้ประชาชนเข้าถึงน้ำอุปโภคที่สะอาด 2) ยุคส่งเสริม : มุ่งเน้นการสุขาภิบาลที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน จัดหาน้ำสะอาด ให้ประชาชนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยคลอบคลุมทุกพื้นที่ จัดการมูลฝอยติดเชื้อ ตามหลักสุขาภิบาล จัดการสุขาภิบาลอาหาร และตลาดสด น่าซื้อ ขยายสู่ ตลาดนัด น่าซื้อ อาหารริมบาทวิถี และพัฒนาเป็นมาตรฐาน SAN ในปัจจุบัน อีกทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการ ผู้สัมผัสอาหาร และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค พัฒนาและบังคับใช้กฎหมายสาธารณสุข ในการคุ้มครองประชาชนด้านสุขลักษณะ เหตุรำคาญ และการอนามัยสิ่งแวดล้อม 3) ยุคต่อยอด : มุ่งเน้นการจัดบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ได้มาตรฐานและคุ้มครองสิทธิของประชาชน พัฒนาระบบบริการคุณภาพด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (EHA) ส่งเสริม GREEN and CLEAN Hospital พัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล พร้อมยกระดับเป็น GREEN and CLEAN Hospital Challenge และมุ่งสู่ Climate-Smart Health Care ในปัจจุบัน “4) ยุคยั่งยืน: มุ่งเน้นการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีและสร้างความรอบรู้ให้กับประชาชน ขับเคลื่อนเมืองสุขภาพดี ให้มีการจัดการเมืองที่คำนึงถึงความจำเป็นพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมทั้งพัฒนามาตรฐานโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ให้ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้ปฏิบัติงาน จัดตั้งทีมปฏิบัติการ SEhRT รับมือภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข และจัดการสิ่งคุกคามสุขภาพสมัยใหม่ ด้วยการเฝ้าระวัง สื่อสารความเสี่ยง ในการป้องกันผลกระทบจากมลพิษอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมความรอบรู้และเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขอนามัย รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วยอนามัยโพล และขับเคลื่อนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) ในพื้นที่เสี่ยงด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น เหมืองทอง EEC SEZ ฯลฯ เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับปี 2567 กรมอนามัย จึงได้ร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรมควบคุมมลพิษกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย และสมาคมอนามัยแห่งประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2567 ภายใต้แนวคิด “1 ทศวรรษ วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อคนไทยสุขภาพดี” เพื่อสร้างความตระหนักให้แก่สังคม และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมดำเนินงานอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยแก้ไขปัญหาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เพื่อมุ่งสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ มีการปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “บ้านก้อ Sandbox ฝ่าฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน” การเสวนาทางวิชาการ ในหัวข้อ “ลดและปรับ รับมือกับ Climate Change" และกิจกรรมรณรงค์ “คนละมือ คนละแชร์ อนามัยสิ่งแวดล้อมคนสุขภาพดี” ประกอบด้วย 1) การจัดนิทรรศการและกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับอนามัยสิ่งแวดล้อม 2) การจัดกิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ (3R / ลดการใช้พลาสติก) 3) การจัดกิจกรรมทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะ และ 4)การจัดกิจกรรมเพิ่มพื้นที่สีเขียว เช่นปลูกต้นไม้และปลูกป่า
***
กรมอนามัย / 4 กรกฎาคม 2567