กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์วันไอโอดีนแห่งชาติ ร่วมกับทุกภาคส่วน ได้แก่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชมรมผู้ประกอบการเกลือเสริมไอโอดีนภาคกลางสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรุงเทพมหานคร ชูประเด็น “ประสานพลังขับเคลื่อนชุมชนหมู่บ้านไอโอดีน” เพื่อให้คนไทยรอบรู้ ตระหนักและเห็นความสำคัญของผลเสียต่อร่างกายจากการได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอ อาจส่งผลต่อระดับสติปัญญาและคุณภาพชีวิต
แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า เนื่องในวันที่ 25 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันไอโอดีนแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้ดำเนินโครงการการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ ในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ ปี 2532 ถึงปัจจุบัน โดยในปี 2567 นี้ รณรงค์ภายใต้หัวข้อ “ประสานพลังขับเคลื่อนชุมชนหมู่บ้านไอโอดีน” เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานชุมชน หมู่บ้านไอโอดีนผ่านแพลตฟอร์มอนามัยไอโอดีน ที่เป็นเครื่องมือให้ชุมชนสามารถประเมินตนเองและพัฒนาจนเป็นชุมชนหมู่บ้านไอโอดีน และประชาชนเข้าถึงความรู้เรื่องการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนและเข้าถึงร้านค้า ร้านอาหารที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนได้ ซึ่งขณะนี้มีชุมชน หมู่บ้านไอโอดีน ผ่านการประเมินฯสะสมตั้งแต่ ปี 2565 - 2567 จำนวน 36,252 แห่ง พร้อมเตรียมมอบโล่เชิดชูเกียรติประสานพลังขับเคลื่อนชุมชนหมู่บ้านไอโอดีน โดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้กับจังหวัดที่ผลการดำเนินงานดีเด่น ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผลงานดีระดับเขต ได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์ อุทัยธานี อ่างทอง สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา เลย ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี พัทลุง และกรุงเทพมหานคร
“นอกจากนี้ กรมอนามัยได้ประสานพลังภาคีเครือข่าย สื่อสารประชาสัมพันธ์เรื่องการป้องกันและควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน ระดมทุนทางสังคม ปลุกประชาชนให้รวมพลังสร้างความรอบรู้ ด้วยการใช้ระบบการสื่อสารที่ทรงพลัง ผ่านผู้นำชุมชนหมู่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ใกล้ชิดประชาชน และผ่านช่องทางการสื่อสารทุกรูปแบบ มุ่งหวังให้ประชาชนทุกกลุ่มวัย ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เด็กเล็ก เด็กวัยเรียนวัยรุ่น ผู้ใหญ่วัยทำงาน และผู้สูงอายุ จัดทำ “เมนูอาหาร” ที่เต็มเปี่ยมด้วยไอโอดีน พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเลือกรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนเป็นประจำ เลือกเกลือเสริมไอโอดีน หรือผลิตภัณฑ์ปรุงรสเสริมไอโอดีน เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ในการปรุงประกอบอาหารในทุกครัวเรือนและร้านอาหาร โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร6 เดือนแรกที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการขาดสารไอโอดีน เพราะมีความต้องการปริมาณไอโอดีนมากกว่ากลุ่มวัยอื่นต้องได้รับยาเม็ดเสริมไอโอดีนทุกวัน เพื่อให้เพียงพอพัฒนาการทางสมอง สติปัญญาและการเจริญเติบโตของทารก” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 25 มิถุนายน 2567