กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ส่งทีม SEhRT ของกรมอนามัย ปฏิบัติภารกิจด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมตลอดตั้งแต่วันที่ 5 – 12 เมษายน 2567 ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่ ผลการกรวดน้ำ วานนี้ (5 เมษายน 2567 ที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ซึ่งเป็นจังหวัดแรกที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากกรดที่ไหลเข้ามาในประเทศไทย ไม่พบการปนเปื้อนของกรดในระบบประปาของประชาชน
วันนี้ (6 เมษายน 2567) นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย จากเหตุกราณ์รถบรรทุกกรดซัลฟิวริกพลิกคว่ำ และเกิดการรั่วไหลลงสู่แม่น้ำคานใน แขวงหลวงพระบาง ประเทศลาว ส่งผลให้อาจมีน้ำปนเปื้อนกรดซัลฟิวริกไหลมายังลุ่มน้ำโขง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จึงได้ประกาศพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากสารดังกล่าว ได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี อาจเสี่ยงได้รับผลกระทบจากสารเคมีดังกล่าว นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายภารกิจให้กรมอนามัย ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ปฏิบัติภารกิจเฝ้าระวังคุณภาพน้ำโดยเฉพาะประปาชุมชนและประปาหมู่บ้านในจังหวัดเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดย แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย ได้มอบหมายให้ทีมปฏิบัติการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี และศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลพื้นที่ที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนของกรดซัลฟิวริกในแม่น้ำโขง เร่งประสานงาน และเฝ้าระวัง ประเมินเสี่ยงอนามัยสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลต่อสุขภาพประชาชน
“ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานพบว่า การประเมินความเสี่ยง และวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการปนเปื้อนกรดซัลฟิวริก ในพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบดังกล่าวอยู่ในช่วงฤดูแล้ง ประกอบกับประเมินอัตราการไหลของแม่น้ำโขงประจำวัน จึงมีการคาดการณ์ได้ว่า กระแสน้ำจะพัดพากรดซัลฟิวริกจากประเทศลาวเข้ามายังแม่น้ำโขงของประเทศไทย ในวันที่ 6 เมษายน ซึ่งก็คือวันนี้ ทำการเก็บตัวอย่างจากระบบประปาชุมชนและประปาหมู่บ้านที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ซึ่งเป็นจังหวัดแรกที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากกรดที่ไหลเข้ามาในประเทศไทย พบค่า PH อยู่ในช่วง 7-8 ซึ่งถือว่าเป็นปกติไม่มีการปนเปื้อนของกรดในระบบประปาของประชาชนดำเนินการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลมส่งเสริมสุขภาพตำบล สื่อสารให้ประชาชนทราบถึงอันตราย และลักษณะของอาการเบื้องต้นหากสัมผัสน้ำที่ปนเปื้อนกรดดังกล่าว และให้ติดตามสถานการณ์การแจ้งเตือนจากหน่วยงานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามมาตรการสำคัญ คือ หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำ หรือใช้น้ำจากแม่น้ำโขงโดยไม่มีการปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนนำมาใช้ในบ้านเรือน ประสาน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยง กำหนดมาตรการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาชุมชน และประปาหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง” นายแพทย์อรรถพล กล่าว
นายแพทย์อรรถพล กล่าวในตอนท้ายว่า กรมอนามัย ขอให้ประชาชนในพื้นที่โดยรอบลุ่มแม่น้ำโขง ติดตาม รับฟังข้อมูลผลการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำอุปโภคบริโภคจากหน่วยงานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และขอให้สังเกตอาการตนเอง และคนในครอบครัวโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็กเล็ก คนท้อง คนแก่ และผู้มีปัญหาทางสุขภาพ หากมีการผิดปกติ เช่น มีผื่นแดง แสบ ร้อนที่ผิวหนังหลังจากสัมผัสน้ำจากแหล่งน้ำโขง หรือน้ำประปาชุมชน หรือประปาหมู่บ้านให้รีบพบหมอใกล้บ้านหรือแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่เพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำ และการปนเปื้อนของกรดซัลฟิวริกโดยเร่งด่วน อย่าวิตก กังวล หรือตระหนก เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ได้มีการเฝ้าระวัง เตรียมความพร้อมรับมือกับเหตุฉุกเฉิน และมีมาตรการแจ้งเตือนประชาชนอย่างรวดเร็ว หากพบความผิดปกติ จึงขอให้มั่นใจในการใช้น้ำอุปโภค บริโภคในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย
***
กรมอนามัย / 6 เมษายน 2567