กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
วันนี้ (5 เมษายน 2567) ภิญญาพัชญ์ จุลสุข ผู้อำนวยการกองอนามัยฉุกเฉิน กรมอนามัย เปิดเผยในการแถลงข่าว เรื่อง ทีม SEhRT กรมอนามัย เฝ้าระวังความเสี่ยงการปนเปื้อนแคดเมียมในชุมชนร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ว่า จากกรณีพบการลักลอบเก็บสะสมกากแคดเมียมและสังกะสีจำนวนมากในโรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งกากของเสียอุตสาหกรรมดังกล่าวมีความเป็นอันตราย หากจัดเก็บที่ไม่ถูกต้อง อาจกระทบต่อประชาชนในพื้นที่โดยรอบได้ เนื่องจากกากแคดเมียมถือเป็นสารอันตรายต่อสุขภาพ หากสัมผัสทั้งการกินการหายใจเอาฝุ่นละอองที่ปนเปื้อนแคดเมียมเข้าสู่ร่างกาย สามารถทำให้เกิดผลทางสุขภาพได้ โดยกรณีเฉียบพลันจะเกิดการระคายเคืองจมูกลำคอ หายใจลำบาก เจ็บปวดบริเวณหน้าอก มีอาการไอ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง อ่อนเพลีย บางรายเกิดภาวะท้องร่วง ในระยะยาวหากสัมผัสเป็นเวลานานและมีความเข้มข้นสูงมีโอกาสเกิดมะเร็งได้ เนื่องจากสารแคดเมียมเป็นสารก่อมะเร็งประเภทหนึ่ง
ผู้อำนวยการกองอนามัยฉุกเฉิน กรมอนามัย กล่าวต่อไปว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครได้ประกาศ ห้ามมิให้บุคคลใดเข้าอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการใดในพื้นที่เกิดสาธารณภัย พร้อมสั่งการให้ย้ายกากแคดเมียมและสังกะสีทั้งหมดส่งกลับไปยังบริษัทต้นทางเพื่อกำจัดให้ถูกต้อง รวมถึงห้ามหล่อหลอมแคดเมียมในโรงงานจนทำให้เกิดฝุ่นหรือฟูมโลหะหนักในอากาศที่ส่งผลต่อประชาชนโดยรอบ พร้อมทั้งให้หน่วยงานรับผิดชอบตามกฎหมายเข้าควบคุม กำกับ การจัดการกระบวนการผลิตในโรงงานให้ถูกต้องตามมาตรฐาน ทั้งนี้ แม้ว่ากรมควบคุมมลพิษได้ตรวจสอบกากแคดเมียมและกากสังกะสีที่นำมาสะสมในโรงงานแล้วพบว่า มีการทำลายฤทธิ์ของสารเคมีด้วยการใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์จนทำให้ไม่มีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม แต่แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย ยังคงให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวัง ติดตามความเสี่ยงการปนเปื้อนของกากอุตสาหกรรมดังกล่าว จึงส่งทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี ร่วมปฏิบัติภารกิจด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานงานในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และ สำนักงานควบคุมป้องกันโรค ทำการสำรวจสภาพสิ่งแวดล้อม ประเมินความเสี่ยงการปนเปื้อนของสารพิษในระบบประปาชุมชน อาหาร ความเสี่ยงทางสุขภาพของประชาชนที่อาศัย พบว่า ไม่มีการชำระล้างกากอุตสาหกรรมในโรงงาน และไม่พบแหล่งน้ำสาธารณะโดยรอบโรงงานและชุมชน รวมทั้งประชาชนใช้น้ำจากระบบประปาภูมิภาค จึงไม่มีการปนเปื้อนสารเคมีในน้ำอุปโภค บริโภคจึงมั่นใจในความปลอดภัยได้ ไม่พบอาการแสดงหรือผลทางสุขภาพ มีเพียงความกังวลต่อการสะสมกากแคดเมียมและสังกะสังที่สะสมไว้ในโรงงานจำนวนมาก
“ทั้งนี้ ทีมสาธารณสุขจังหวัดและทีม SEhRT ของศูนย์อนามัย ได้ชี้แจงและมีคำแนะนำด้านสุขภาพสำหรับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่และประชาชนเบื้องต้น สำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ให้เฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงการปนเปื้อนสารมลพิษในสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น น้ำใช้ครัวเรือน อาหาร รวมทั้งตรวจฝุ่นละอองที่อาจมีแคดเมียมปนเปื้อน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน สำรวจสถานประกอบการหรือโรงงานที่มีการสะสมสารเคมีในรูปแบบเดียวกันในพื้นที่ และเร่งสื่อสาร แจ้งเตือนประชาชนหากพบความผิดปกติ หรือความเสี่ยงการปนเปื้อนสารพิษในสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ประชาชนสามารถหลีกเลี่ยงหรืออพยพออกจากพื้นที่ได้ทันที บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ในการควบคุม กำกับ กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพให้มีการจัดการสุขลักษณะที่ดี การผลิตที่ปลอดภัย ไม่ทำให้เกิดมลพิษจนส่งผลต่อสุขภาพทั้งคนงานและประชาชน” ผู้อำนวยการกองอนามัยฉุกเฉิน กรมอนามัย กล่าว
ภิญญาพัชญ์ กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับประชาชน ติดตามข่าวสาร สถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากมีการแจ้งเตือนภัยรับทำตามและออกจากพื้นที่ทันที หากพบสารพิษปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ในชุมชน เช่น แหล่งน้ำ อาหาร หรืออากาศ รีบป้องกันตนเอง หลีกเลี่ยงการสัมผัสทันที เฝ้าระวังอาการผิดปกติของตนเองและครอบครัว หากพบอาการผิดปกติให้ไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทันที กรมอนามัยขอให้สถานประกอบการที่เป็นแหล่งกำเนิดของเสียอันตรายและสารโลหะหนักที่เป็นอันตรายเฝ้าระวังความเสี่ยงมีการจัดระบบการป้องกันอันตรายออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพ และสำคัญที่สุดต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อย่างเคร่งครัด และขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ กำกับ ดูแล เฝ้าระวัง เร่งหามาตรการป้องกันไม่ให้สถานประกอบการเกี่ยวกับสารเคมีทุกชนิด มีการปล่อย หรือทำให้เกิดสารพิษออกไปยังชุมชนที่มีประชาชนโดยรอบ จนเป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงผลกระทบสุขภาพต่อไป
***
กรมอนามัย / 5 เมษายน 2567