คุณกำลังมองหาอะไร?

รมอนามัย เตือน โด๊ปจิ้งจก–ตุ๊กแก หวังเตะปี๊บดังไม่จริง

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

02.04.2567
72
0
แชร์
02
เมษายน
2567

        กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนจากข้อมูลที่แชร์บนโลกออนไลน์ กินจิ้งจก ตุ๊กแก หวังเสริมสมรรถนะทางเพศ ไม่เป็นความจริง ชี้ประชาชน ไม่ควรกิน เพราะยังไม่มีงานวิจัยรองรับถึงประโยชน์ตามที่กล่าวอ้าง พร้อมแนะประชาชนดูแลตนเองอย่างเหมาะสม เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับให้เพียงพอ ลดการดื่มแอลกอฮอล์และเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพื่อสุขอนามัยที่ดี

        นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีข้อมูลที่แชร์บนโลกออนไลน์ หนุ่มใหญ่อายุ 59 ปี จับจิ้งจกมากินโชว์ อ้างว่าจิ้งจกมีสรรพคุณเป็นยาโด๊ป กินเป็นประจำจะทำให้สุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง โดยเฉพาะสุภาพบุรุษ จะเพิ่มสมรรถภาพทางเพศภายในสามชั่วโมงหลังจากกินรวมทั้งสื่อต่างประเทศรายงานข่าว หนุ่มใหญ่ชาวไทยอีกเช่นเคย กินตุ๊กแกเป็นอาหารเพื่อปรับปรุงสมรรถภาพทางเพศ โดยใช้วิธีกินดิบไม่ปรุงสุกเพราะเชื่อว่าจะได้ผลดีที่สุด ซึ่งในความเป็นจริงนั้น การกินจิ้งจก และตุ๊กแกอาจมีโอกาสได้รับเชื้อโปรโตรซัวที่อยู่ในสัตว์เลื้อยคลาน เพราะจิ้งจกและตุ๊กแกดำรงชีวิตด้วยการกินอาหารสด จำพวกแมลงหรือสัตว์ขนาดเล็กที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย ติดเชื้อในทางเดินอาหาร หรือปวดท้องบิดได้ โดยเฉพาะในมูลของจิ้งจก ตุ๊กแก อาจมีเชื้อราปนเปื้อน และเชื้อซาลโมเนลลาที่เป็นพาหะโรคอุจจาระร่วง อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ รวมทั้งตุ๊กแกดิบ ๆ อาจได้รับอันตรายเพราะตุ๊กแกเป็นสัตว์ที่มีฟันที่แหลมคมกัด รวมทั้งการได้ตามจับตุ๊กแกก็เสี่ยงต่อสัตว์มีพิษชนิดอื่นๆ ได้ เนื่องจากตุ๊กแกไม่ใช่สัตว์ที่เพาะเลี้ยงเพื่อใช้บริโภค จึงต้องหาจากป่า สวน หรือบริเวณบ้านเรือน อีกทั้ง หากไม่มีกระบวนการชำแหละ จะเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อก่อโรคได้

        ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่สามารถยืนยันได้ว่า จิ้งจก หรือตุ๊กแกสามารถเสริมสมรรถภาพทางเพศหรือรักษาโรคได้จริงหรือไม่ สำหรับชายหนุ่มที่ต้องการมีสมรรถนะทางเพศที่แข็งแรง ควรเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ไข่ ถั่ว เนื้อหมู เนื้อวัว หอยนางรม เหล่านี้เป็นอาหารที่อุดมด้วยโปรตีน วิตามินอีและสังกะสี ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มความแข็งแรงและบำรุงระบบสืบพันธุ์ ลดการดื่มแอลกอฮอล์และเลี่ยงการสูบบุหรี่ รวมทั้งหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพียงเท่านี้ก็สามารถมีสุขอนามัยที่ดี ลดความเสี่ยงในการบริโภคจิ้งจก หรือตุ๊กแกที่จะได้รับเชื้อก่อโรคได้

 

***

กรมอนามัย / 2 เมษายน 2567

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน