กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ดร.นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วยแพทย์หญิงศรินนา แสงอรุณ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ และผู้บริหารกรมอนามัย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมยกระดับขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพระสงฆ์ต้นแบบ เขตสุขภาพที่ 3 ณ วิทยาลัยสงฆ์พิจิตร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ดร.นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ร่วมกับภาคีเครือข่ายหน่วยงานพื้นที่ 5 จังหวัด ในเขตสุขภาพที่ 3 ร่วมกันขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แบบบูรณาการ โดยมีเป้าหมายการขับเคลื่อน คือ พระสงฆ์กับการดูแลอุปปัฏฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย และบทบาทพระสงฆ์ในการ เป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม ที่จะนำไปสู่การส่งเสริมและสนับสนุนการดูแลภาวะพระสงฆ์ ให้มี คุณภาพชีวิตที่ดี สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม ตลอดจนจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ โดยก่อให้เกิดความเชื่อมโยงวัดกับชุมชน ทำให้ “พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข” การดำเนินส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานการส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์โดยใช้กลไกธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แบบบูรณาการ ส่งเสริมให้คณะสงฆ์เกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานพัฒนาสุขภาวะพระสงฆ์ และร่วมยกย่องเชิดชูเกียรติพระสงฆ์ต้นแบบ พระคิลานุปัฏฐากและวัดส่งเสริมสุขภาพ
“ทั้งนี้ การดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ต้องอาศัยพลังจากภาคีเครือข่ายทุกส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และคณะสงฆ์ โดยรวมเรียกพลังเหล่านี้ว่า พลัง “บวร” หากมีการงานที่เกี่ยวข้อกับพระสงฆ์ ผนึกกำลังร่วมแก้ไขปัญหา จะสามารถขับเคลื่อนส่งเสริมให้พระสงฆ์มีสุขภาวะที่ดี สามารถดูแลสุขภาพอนามัยของตนเอง ให้คำแนะนำดูแลพระสงฆ์สูงอายุที่ต้องการการดูแลระยะยาวได้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้าน แพทย์หญิงศรินนา แสงอรุณ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ กล่าวว่า ศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ ร่วมกับเครือข่ายดำเนินงานผ่านรูปแบบวัดส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้พระสงฆ์มีความรู้ด้านสุขภาพเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อชุมชนและประชาชนในพื้นที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการเผยแพร่พระธรรม คำสอนสอดแทรกสาระสุขภาพ รวมทั้งดูแลสภาพแวดล้อมภายในวัดและชุมชนให้สะอาด ปลอดภัย สำหรับด้านโภชนาการในพระสงฆ์พบว่า อาหารที่ประชาชนนิยมนำไปตักบาตรจะประกอบด้วย แป้ง น้ำตาล ไขมัน และกะทิที่ให้พลังงานสูง เนื่องจากพระสงฆ์ไม่สามารถเลือกฉันอาหารเองได้ ต้องฉันอาหารตามที่ฆราวาสตักบาตร ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพ ประกอบกับสถานภาพพระสงฆ์ไม่เอื้อต่อการ ออกกำลังกายทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น ดังนั้น ประชาชนควรคำนึงถึงสุขภาพพระสงฆ์ ด้วยการเลือกเมนูชูสุขภาพในการตักบาตร เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการ อาหารครบ 5 หมู่ มีความหลากหลาย เลือกอาหารลดหวาน มัน เค็ม เพื่อพระสงฆ์ไทยมีสุขภาพที่แข็งแรง
***
กรมอนามัย / 26 สิงหาคม 2566