กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง คาดว่าประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยว โดยใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งการเดินทาง ด้วยระบบขนส่งดังกล่าวอาจใช้ระยะเวลานาน ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ได้ง่าย จึงขอให้ผู้ประกอบการปฏิบัติ ดังนี้ 1) สถานีขนส่งต้องผ่านการประเมิน COVID Free Setting 2) กำหนดทางเข้า-ออก และมีการ คัดกรองอุณหภูมิผู้โดยสารพนักงานให้ชัดเจน 3) พนักงาน ผู้โดยสาร ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา 4) จัดให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ 5) มีการติดตามข้อมูลผู้เดินทาง เช่น มีสมุดลงทะเบียนหรือแอปพลิเคชันตามที่ราชการกำหนด 6) มีการควบคุม จำกัด จำนวนผู้โดยสาร ไม่ให้แออัดจนเกินไปมีการเว้นระยะห่างระหว่างรอรับบริการ 7) จัดให้มีการระบายอากาศที่ดี และทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศสม่ำเสมอ 8) อาคารสถานีมีการทำความสะอาดพื้นที่โดยรอบจุดสัมผัสร่วมกัน เช่น เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วโดยสาร ปุ่มกดตัวเช็กอิน ปุ่มกดตู้จำหน่ายเครื่องดื่ม มือจับประตู ราวบันได ลิฟต์ เป็นต้น ด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือน้ำยาฟอกขาว 0.1 เปอร์เซ็นต์ หรือแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงทำความสะอาดส้วม ทุก 2 ชั่วโมง
“ทั้งนี้ การปฏิบัติตัวสำหรับพนักงานขับรถ พนักงานต้อนรับ พนักงานทำความสะอาด รวมถึงผู้โดยสาร ก็ต้องเคร่งครัดเช่นกัน โดยต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำเมื่อมีการสัมผัสสิ่งของร่วมกันหรือพกเจลแอลกอฮอล์ติดตัวไว้ ระหว่างทาง และพนักงานที่ปฏิบัติงาน ในจุดเสี่ยง เช่น พนักงานทำความสะอาด เก็บรวบรวมขยะ ต้องสวมถุงมือ รองเท้า หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน และล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ อย่างสม่ำเสมอ หากเป็นไปได้ควรอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีหลังปฏิบัติงาน สำหรับผู้โดยสารที่มีอาการหรือความเสี่ยงสูงควรตรวจ ATK ก่อนเดินทางทุกครั้ง หากมีผลบวก ควรงดเดินทางและเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป แต่ถ้าผลเป็นลบ ขณะเดินทางให้สวมหน้ากากตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการพูดคุยโดยไม่จำเป็น หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือล้างด้วยเจลแอลกอฮอล์” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย/ 11 เมษายน 2565