กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
กระทรวงสาธารณสุข มอบ 2 นโยบายหลักสำคัญ ‘สุขภาพดีวิถีใหม่ – ดูแลสุขภาพแบบองค์รวม’ วางเป้าหมายให้ครอบครัวไทยมีความรอบรู้ด้านสุขภาพอย่างน้อย 5 ล้านครอบครัว พร้อมดูแลสุขภาพกลุ่มวัยอย่างเป็นระบบมุ่งเน้นกลุ่มเด็กปฐมวัย และกลุ่มผู้สูงอายุ ดำเนินการขับเคลื่อนผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด บูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หวังยกระดับคุณภาพชีวิตตั้งแต่วัยเด็กจนถึงสูงวัยอย่างยั่งยืน
วันนี้ (23 พฤศจิกายน 2563) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสริมสร้างขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและความร่วมมือของภาคีเครือข่ายระดับพื้นที่ พร้อมมอบนโยบายการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2564 และมอบโล่เชิดชูเกียรติ 6 ประเภทดีเด่นระดับเขตสุขภาพ ได้แก่ ผู้สูงอายุต้นแบบสุขภาพดีชีวีมีสุข ดีเด่น ชมรมผู้สูงอายุ ดีเด่น ตำบลที่มีระบบการส่งเสริมสุขภาพดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ในชุมชนผ่านเกณฑ์ ดีเด่น ผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager) ดีเด่น ผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver)ดีเด่น และนวัตกรรมด้านการส่งเสริมดูแลสุขภาพผู้สูงอายุดีเด่น ณ ห้องประชุม DIAMOND HALL โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท จังหวัดปทุมธานี
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเลิศ (PP & P Excellence) เป็น 1 ใน 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ มุ่งเน้นให้ประชาชนมีความรอบรู้ ด้านสุขภาพ (Health Literacy) มีทักษะในการจัดการสุขภาพและปัจจัยโดยรอบได้ด้วยตัวเอง โดยในปี 2564 นี้ กระทรวงสาธารณสุขกำหนดประเด็นการส่งเสริมสุขภาพเพื่อดำเนินการผ่าน 2 นโยบายหลักสำคัญคือ 1) สุขภาพดีวิถีใหม่ : คนไทยรอบรู้ดี สุขภาพดี อารมณ์ดี โดยวางเป้าหมายให้ครอบครัวไทยมีความรอบรู้ด้านสุขภาพอย่างน้อย 5 ล้านครอบครัว มุ่งเน้นใน 2 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 ประชาชนมีความรอบรู้ในเรื่องการจัดการพฤติกรรมตนเองใน 3 ด้านคือ การออกกำลังกาย การเลือกบริโภคอาหาร และการจัดการอารมณ์ตนเอง สำหรับส่วนที่ 2 คือ การจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยเน้นอาหารปลอดภัยทั้งในสถานประกอบการประเภทสตรีทฟู้ดและตลาดนัด ซึ่งเป็นแหล่งที่ประชาชนเลือกซื้อสินค้าบริโภคเป็นหลัก เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยควบคู่กับการสร้างความเข้าใจด้านสุขอนามัยให้กับผู้บริโภค "นโยบายที่ 2 คือ ดูแลสุขภาพแบบองค์รวม : ดูแลสุขภาพกลุ่มวัยอย่างเป็นระบบมุ่งเน้นสุขภาพเด็กปฐมวัยและผู้สูงอายุ โดยปีนี้กระทรวงสาธารณสุขจะเน้นที่เด็กปฐมวัยซึ่งเป็นช่วงต้นของชีวิต โดยเฉพาะช่วง 1,000 วันแรกที่จะกระตุ้นด้านพัฒนาการและการเจริญเติบโต ซึ่งต้องอาศัยการจัดการโดยชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการศูนย์เด็กเล็กให้ได้มาตรฐานมีการสร้างพื้นที่เล่นให้เด็ก เพราะหากเด็กมีความพร้อมสมบูรณ์จะส่งต่อสู่ช่วงวัยอื่นอย่างมีคุณภาพ สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งมีประมาณ 12 ล้านคน และประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วนั้น การดำเนินงานเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุ กระทรวงสาธารณสุขต้องร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดบริการสุขภาพ สวัสดิการสังคม และพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปัญหาการติดบ้าน ติดเตียง ในกลุ่มผู้สูงอายุให้น้อยลง” ดร.สาธิต กล่าว
ทางด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินงานพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ปี 2563 พบว่า มีตำบลที่มีระบบการส่งเสริมสุขภาพดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ในชุมชนผ่านเกณฑ์ จำนวน 6,722 ตำบล จากทั้งหมด 7,255 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 92.65 และมีผู้สูงอายุที่ได้รับการดูแลตาม Care Plan เปลี่ยนกลุ่มจากติดเตียงเป็นติดบ้าน ร้อยละ 1.44 ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องเร่งดำเนินการในระดับพื้นที่ผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ที่จะต้องกำหนดทิศทางให้กับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และหน่วยบริการบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่เร่งยกระดับการส่งเสริมสุขภาพ ให้เกิดผลลัพธ์ต่อสุขภาพประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 23 พฤศจิกายน 2563