กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนในพื้นที่น้ำลดเร่งทำความสะอาดบ้าน ลดปัญหาเชื้อราสะสม หวั่นส่งผลกระทบต่อสุขภาพ พร้อมเร่งซ่อมแซมส้วมที่ชำรุดเสียหาย ป้องกันการสะสมของยุง หนู แมลงสาบ ที่เป็นพาหะนำโรค
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยสุขภาพประชาชนในพื้นที่น้ำลด โดยเน้นย้ำให้ประชาชนทำความสะอาดบ้านเรือน และสถานที่สาธารณะต่าง ๆ รวมถึงสถานที่ผลิตและจำหน่ายอาหาร อาทิ ตลาดสด ร้านอาหาร มินิมาร์ท ที่ได้รับผลกระทบเพราะน้ำท่วมจะพัดพาสิ่งสกปรกมาจากทุกสารทิศ ทั้งโคลนตม ขยะมูลฝอย วัสดุ สิ่งของต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการหมักหมม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดของโรคได้ เพื่อสุขอนามัยของที่ดีจึงต้องมีการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและที่พักอาศัยให้สะอาดปลอดภัยตามหลักสุขาภิบาล เพราะหากปล่อยไว้นานจะกลายเป็นแหล่งสะสมและแพร่กระจายของเชื้อโรคโดยเฉพาะเชื้อราที่สามารถพบได้หลังน้ำลด ตามบริเวณพื้น ฝาผนัง วอลล์เปเปอร์ เฟอร์นิเจอร์ ที่นอน หมอน พรม รวมถึงตู้แช่อาหาร ตู้เย็น อาหารซอง และอาหารกระป๋อง จำเป็นต้องได้รับการล้างทำความสะอาดอย่างเร่งด่วน
ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า ประชาชนบางรายอาจตื่นตระหนกกับปัญหาเชื้อราดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วสามารถกำจัดให้หมดไปได้หากมีล้างทำความสะอาดตามหลักสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่เปิดประตู หน้าต่าง ภายในบ้าน ห้ามเปิดพัดลม หรือเครื่องปรับอากาศเพราะจะทำให้สปอร์ราฟุ้งกระจาย นำเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ออกไปทำความสะอาดนอกบ้าน สำหรับเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ อาทิ ที่นอน หมอน วอลล์เปเปอร์ หรือฉนวนกันความร้อน ที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกต้องนำไปทิ้ง โดยทิ้งใส่ถุงมัดปากถุงให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อรา
"ทั้งนี้ การเช็ดทำความสะอาดบ้านเรือนที่ปนเปื้อนเชื้อรามี 3 ขั้นตอน คือ
1. พื้นผิววัสดุที่ขึ้นรา ให้ใช้กระดาษทิชชูแผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์พรมน้ำให้เปียกเล็กน้อย เช็ดพื้นผิวไปในทางเดียว แล้วนำกระดาษทิชชูหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ ทิ้งขยะมัดปากถุงให้เรียบร้อย
2. ผสมน้ำกับสบู่หรือน้ำยาล้างจานใช้กระดาษทิชชูแผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ชุบเช็ดซ้ำอีกครั้ง
3. ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อรา เช่น น้ำส้มสายชู 5?7 % หรือแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 60-90% โดยใช้กระดาษชุบเช็ดเพื่อทำความสะอาด และหากพบว่าบริเวณห้องน้ำ ฝาผนังที่ชื้น ให้ทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อโรคด้วยน้ำผสมคลอรีน ? ถ้วย ต่อน้ำ 1 แกลลอน พร้อมทั้งเก็บรวบรวมเศษขยะ สิ่งปฏิกูล ใส่ถุงมัดปากถุงให้แน่นเพื่อรอหน่วยงานนำไปกำจัด สำหรับส้วมที่ชำรุดเสียหาย ควรเร่งซ่อมแซมให้ใช้งานได้ดี ไม่มีสิ่งปฏิกูลรั่วไหลออกมาภายนอก และดูแลรักษาความสะอาดอยู่เสมอ เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรค ยุง หนู แมลงสาบที่เป็นพาหะนำโรค? อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
***
สำนักสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง / 17 ตุลาคม 2556