กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนรับประทานอาหารหลังออกเจตามหลักโภชนาการ 2:1:1 โดยให้เลี่ยงอาหารประเภทเนื้อสัตว์ย่อยยาก อาหารรสหวาน มัน เค็ม และสามารถเพิ่มกินไข่วันละฟอง รวมทั้งผักสด ผลไม้รสไม่หวานจัด ควบคู่กับการออกกำลังกายเป็นประจำ
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ช่วงกินเจติดต่อกันส่งผลให้ร่างกายมีการปรับระบบการย่อยอาหารจากที่ย่อยเนื้อสัตว์มาเป็นพืชผักแทน เมื่อร่างกายต้องกลับมากินอาหารประเภทหนักๆ ตามปกติผู้บริโภคจึงต้องมีการปรับสภาพร่างกายด้วยการกินอาหารย่อยง่ายประเภทเนื้อปลา ผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารย่อยยากประเภท เนื้อวัว เนื้อหมู เนื่องจากระยะแรกร่างกายอาจจะต้องมีการปรับระบบการย่อยอาหารจากพืชผักมาเป็นเนื้อสัตว์ ซึ่งหากมีการบริโภคอาหารที่ย่อยยากในช่วงแรกอาจทำให้เกิดอาการท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อยได้ โดยภายหลังจากที่ร่างกายสามารถปรับสภาพการย่อยอาหารได้กลับมาสู่ภาวะเดิม ผู้บริโภคจะสามารถกินอาหารตามปกติได้ และทางที่ดีควรกินอาหารที่มีประโยชน์และปลอดภัย หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด มันจัด เค็มจัด โดยให้ยึดหลักกินถูกส่วน 2:1:1 ด้วยการแบ่งจานอาหารออกเป็น 4 ส่วนเท่า ๆ กัน โดย 2 ส่วนหรือครึ่งหนึ่งของจานเป็นผักหลากหลายชนิด อีก 1 ส่วนของจานเป็นกลุ่มอาหารเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วเหลืองหรือเต้าหู้ และอีก 1 ส่วนของจานที่เหลือเป็นกลุ่มข้าวแป้ง โดยเน้นกินผักให้มาก เพราะผักให้พลังงานน้อยและยังอุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส โฟเลท และใยอาหารสูง ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพในการป้องกันโรค และเพิ่มภูมิต้านทานโรค ขับถ่ายสะดวก แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หลังออกเจผู้บริโภคสามารถเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการด้วยกินไข่อย่างน้อยวันละฟอง เพราะไข่เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และปรุงประกอบเป็นอาหาร ได้ง่าย เหมาะสมสำหรับทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งนอกจากไข่จะให้สารอาหารประเภทโปรตีนที่สมบูรณ์แล้ว ไข่ยังมีสารอาหารประเภทไขมัน ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส วิตามินบี 12 วิตามินเอ วิตามินดี และเลซิติน ที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายด้วย
"ทั้งนี้ กรมอนามัยได้กำหนดให้เด็กตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปให้กินไข่แดง และตั้งแต่ 7 เดือนขึ้นไปจนถึงเด็กวัยก่อนเรียน เด็กวัยเรียน และวัยรุ่น กินไข่ได้วันละฟอง ส่วนผู้ใหญ่ที่มีภาวะร่างกายปกติหรือกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีไม่มีปัญหาไขมันในเลือดสูง สามารถกินไข่ได้สัปดาห์ละ 3-4 ฟอง และหากเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือโรคที่ต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลก็ควรกินไข่ทั้งฟองเพียงสัปดาห์ละฟองแต่สามารถ กินเฉพาะไข่ขาวได้ทุกวันหรือตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งการกินไข่อย่างฉลาดที่ไม่เป็นการเพิ่มสารอาหารที่ก่อให้เกิดโรคทางโภชนาการนั้น ผู้บริโภคควรกินไข่ควบคู่กับอาหารที่หลากหลายในแต่ละมื้อ ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดไขมันส่วนเกินและควบคุมระดับคอเลสเตอรอลให้เป็นปกติ? อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
สำนักสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง / 14 ตุลาคม 2556