กระทรวงสาธารณสุข ห่วงสุขภาพผู้ประสบภัยน้ำท่วมหวั่นเสี่ยงท้องร่วง เหตุกินอาหารไม่สะอาด แนะอุ่นให้ร้อนทั้งอาหารกระป๋อง อาหารกึ่งสำเร็จรูป รวมทั้งการปรุงประกอบอาหารที่ถูกหลักสุขลักษณะ
นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยสุขภาพประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมในทุกพื้นที่ ได้มอบหมายให้หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขรวมทั้งกรมอนามัยให้ความช่วยเหลือพร้อมให้คำแนะนำด้านสุขภาพแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร เนื่องจากบางครั้งด้วยข้อจำกัดของสถานที่ทำให้มีการปรุงประกอบอาหารทีไม่ถูกสุขลักษณะจึงต้องให้ความสำคัญของเรื่องนี้ เพื่อลดปัญหาของโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อตามมา เช่น ท้องร่วง ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค นายสรวงศ์ กล่าวต่อว่า พื้นที่หรือสถานที่ทำครัวจึงต้องห่างไกลห้องส้วม ที่เก็บขยะ ที่ระบายน้ำเสีย ที่เก็บสารเคมี ควรมีโต๊ะเตรียมหรือปรุงอาหารที่สูงจากพื้นเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรค เช็ดทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบริเวณโต๊ะที่ใช้เตรียมปรุงอาหาร เตาหุงต้มอาหารเป็นประจำทุกวัน ควรแยกระหว่างเขียงหั่นอาหารสุกและอาหารดิบเพราะเชื้อโรคจะปนเปื้อนในอาหารได้ ก่อนปรุงอาหารควรมีการล้างวัตถุดิบทุกครั้ง สำหรับผักที่ปนเปื้อนคราบดินจากน้ำท่วมต้องล้างด้วยน้ำสะอาด 2-3 ครั้ง ผักบางชนิด เช่น คะน้า กะหล่ำ ถั่วฝักยาว หากมีคราบขาวจับที่กาบใบหรือฝักมากเกินไปให้ล้างน้ำหลาย ๆ ครั้ง
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การบรรจุอาหารที่ปรุงสุกแล้วควรใส่ในภาชนะที่สะอาดและไม่ควรทิ้งระยะนานเกิน 2-4 ชั่วโมง หลังปรุงและบรรจุอาหาร ควรระบุวัน เวลาในการกินให้ชัดเจนก่อนส่งให้กับผู้ประสบภัย เพราะหากเก็บนานเกินไปอาจทำให้อาหารบูดและเสียได้ อาหารที่ปรุงควรเป็นอาหารประเภททอดหรือผัดที่ไม่บูดเสียง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ ลาบ ยำ พล่าต่าง ๆ สำหรับการกำจัดขยะในจุดปรุงอาหารจะต้องมีถังขยะใส่เศษอาหารทำด้วยวัสดุไม่รั่วซึม ต้องมีฝาปิด และมีการแยกขยะเป็นสองถังคือถังขยะเปียกและ ถังขยะแห้งเพื่อง่ายต่อการนำกำจัด
"สำหรับผู้ประสบภัยที่ได้รับบริจาคอาหารประเภทเครื่องกระป๋องและสามารถปรุงประกอบอาหารเองได้ ก่อนปรุงควรสังเกตวันหมดอายุ หรือสภาพ สี กลิ่น โดยกระป๋องต้องอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ไม่มีสนิม หรือโป่งพองในส่วนใด เมื่อเปิดกระป๋องต้องไม่มีลมดันออกมา รวมถึงตะเข็บกระป๋องต้องไม่มีรอยรั่ว เพราะอาจทำให้เกิดเชื้อจุลินทรีย์ขึ้นภายในกระป๋องได้ ซึ่งเมื่อเปิดแล้วต้องนำมาใส่ภาชนะอื่นก่อน ล้วทำการอุ่นให้เดือดประมาณ 5 นาที ห้ามอุ่นอาหารทั้งกระป๋องโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายจากสารเคลือบหรือสารโลหะที่จะละลายปนมาในอาหารได้ ส่วนอาหารกระป๋องที่เปิดแล้วหากกินไม่หมด ต้องถ่ายใส่ภาชนะอื่นที่สะอาด มีฝาปิดมิชิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค ซึ่งนำไปสู่ภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร? อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
สำนักสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง / 6 ตุลาคม 2556