กรมอนามัย งัดกลยุทธ์การดูแลผู้สูงอายุระยะยาว เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข งัดกลยุทธ์การดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) สร้างการมีส่วนร่วมระดับท้องถิ่น ชุมชน เน้นการสร้างตำบลต้นแบบฯ และการดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบ เพื่อรองรับ"ภาวะประชากรสูงอายุ? ของประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 14.5 ล้านคน ใน 14 ปีข้างหน้า
วันนี้ (16 มิถุนายน 2554) นายแพทย์สมพงษ์ สกุลอิสริยากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ เปิดเผยถึงการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวของกรมอนามัย ในการประชุมเชิงปฏิบัติการและเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "การบริหารจัดการตำบลต้นแบบด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว?ณ โรงแรมลองบีช ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ว่าจากปัญหาการเพิ่มของประชากรผู้สูงอายุไทยอย่างรวดเร็ว จาก 7 ล้านคน (ร้อยละ 10.7) เป็น 14.5 ล้านคน (ร้อยละ 20) ในปี 2568 หรืออีก 14 ปีข้างหน้า นับว่าเป็นการก้าวสู่ "ภาวะประชากรสูงอายุ?อย่างรวดเร็วเป็น 2เท่าในระยะเวลาอันสั้น และจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังในครอบครัวมีแนวโน้มสูงขึ้น จากร้อยละ 6.3 เป็นร้อยละ 7.7 ในปี 2550 ส่งผลให้ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวมีความรู้สึกเหงา ร้อยละ 51.2 ไม่มีคนดูแลเมื่อเวลาเจ็บป่วย ร้อยละ 27.5 ต้องการคนดูแลเป็นบางเวลา ร้อยละ 52.2 และ ต้องการคนดูแลตลอดเวลา ร้อยละ 10.2 ด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ พบว่า ผู้สูงอายุระหว่าง 60 ? 69 ปี ร้อยละ 69.3 เป็นโรคเรื้อรัง และจะพบโรคเพิ่มมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ในกลุ่มอายุ 90 ปี เป็นร้อยละ 83.3 ซึ่งโรคที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 31.7 โรคเบาหวาน ร้อยละ 13.3 โรคหัวใจ ร้อยละ 7 อัมพาต/อัมพพฤกษ์ ร้อยละ 2.5 โรคหลอดเลือดในสมองตีบ ร้อยละ 1.6 และ โรคมะเร็ง ร้อยละ 0.5 ตามลำดับ
นพ.สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ตระหนักและเห็นความคุณค่าของผู้สูงอายุไทยซึ่งเป็น ปูชนียบุคคล และเป็นคลังสมองของแผ่นดิน จึงได้ดำเนินโครงการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุให้ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพ จิตวิทยา และสังคม โดยการแบ่งผู้สูงอายุออกเป็น 3กลุ่ม ตามความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน (Activities of Daily Living : ADL) ได้แก่ กลุ่มที่ 1) ผู้สูงอายุที่พึ่งตนเองได้ ช่วยเหลือผู้อื่น ชุมชนและสังคมได้ (กลุ่มติดสังคม) ซึ่งมีจำนวนร้อยละ 78 มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพดี ยืดระยะเวลาการเจ็บป่วยเรื้อรังและภาวะทุพพลภาพ โดยการสร้างกิจกรรมชมรมผู้สูงอายุ และกิจกรรมจิตอาสา กลุ่มที่ 2)ผู้สูงอายุที่ดูแลตนเองได้บ้าง ช่วยเหลือตนเองได้บ้าง (กลุ่มติดบ้าน) มีจำนวนร้อยละ 20 มุ่งเน้นกิจกรรมการเข้าถึงบริการสุขภาพ Home Care / Home Health Care กลุ่มที่ 3) ผู้สูงอายุกลุ่มที่พึ่งตนเองไม่ได้ พิการ หรือทุพพลภาพ มีจำนวนร้อยละ 2 มุ่งเน้นลดภาวะการเจ็บป่วยซ้ำซ้อน และมีผู้ดูแล เน้นการดูแลแบบ Home Care / Home Health Care โดยเจ้าหน้าที่ และการฟื้นฟูสุขภาพ รวมถึงกิจกรรมบำบัด ซึ่งโครงการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2551 โดยการสร้างตำบลต้นแบบด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ทำให้ปัจจุบันมีตำบลต้นแบบ จำนวน 76 แห่ง
"ทั้งนี้ ในปี 2554 กรมอนามัยยังได้เตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการและเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "การบริหารจัดการตำบลต้นแบบด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว? ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและชุมชน โดยสนับสนุนองค์ความรู้ พัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เชิดชูเกียรติผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี ตำบลต้นแบบดีเด่น และชมรมผู้สูงอายุดีเด่น ด้วย 6 กลยุทธ์ภายใต้การดำเนินงานตำบลต้นแบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว คือ 1)จัดทำข้อมูลผู้สูงอายุตามกลุ่มศักยภาพ ตามความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน 2) มีชมรมผู้สูงอายุผ่านเกณฑ์ชมรมผู้สูงอายุคุณภาพ 3) มีอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุในชุมชน 4) มีบริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่บ้านที่มีคุณภาพ (Home Health Care) โดยบุคลากรสาธารณสุข 5) มีบริการส่งเสริมป้องกันทันตสุขภาพในระดับตำบล 6) มีระบบการดูแลผู้สูงอายุ กลุ่มที่ 2 (ติดบ้าน) และ กลุ่มที่ 3 (ติดเตียง) ซึ่งเป็นการต่อยอดและขยายผลการดูแลสุขภาพผู้สูงอายไปสู่ตำบลต้นแบบอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายสร้างตำบลต้นแบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวครอบคลุมทุกจังหวัดภายในปี๒๕๕๕ ต่อไป ?นพ.สมพงษ์ กล่าวในที่สุด
****
กลุ่มสื่อสารองค์กร / 16 มิถุนายน 2554