กรมอนามัยจัดอบรมเทศบาลรุ่น 3 ต่อยอดงาน HIA หวังสร้างความรู้การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพสู่ท้องถิ่น
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพสำหรับบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ระดับเทศบาล) หลังจัดอบรบแล้ว 2 รุ่น ในภาคเหนือและภาคกลาง หวังสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพระดับท้องถิ่น ครอบคลุมเทศบาลจำนวน 300 แห่ง
วันนี้ (28 มีนาคม 2554) นางสาวธีชัช บุญญะการกุล ที่ปรึกษากรมอนามัย เปิดเผยในการเปิดการอบรมฯ รุ่นที่ 3 ณ โรงแรมเจริญธานี จังหวัดขอนแก่น ว่า ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรคสอง ได้ระบุว่าการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพและจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน ซึ่งเทศบาลถือเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการกำหนดทิศทาง นโยบายสาธารณะ ตลอดจนแผนงานโครงการพัฒนาที่ให้ความสำคัญด้านสุขภาพ โดยผ่านช่องทางการทำแผนพัฒนาท้องถิ่น การอนุญาตประกอบกิจการฯ และการควบคุมกำกับการดำเนินโครงการฯ ต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชนพร้อมทั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี
ที่ปรึกษากรมอนามัย กล่าวต่อไปว่า การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้สำหรับคุ้มครองและส่งเสริมสุขภาพของประชาชนจากนโยบาย แผนงาน การดำเนินโครงการพัฒนาฯ กิจกรรมต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน อีกทั้ง ยังช่วยค้นหาแนวทางในการป้องกันผลกระทบที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพ โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน ช่วยเสริมสร้างและกำหนดทิศทางการมีสุขภาพที่ดีในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมได้ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะเทศบาลจำนวน 2,016แห่งทั่วประเทศ ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่กรมอนามัยต้องพัฒนาให้บุคลากรของเทศบาลมีความรู้ความเข้าใจด้านการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากการดำเนินงานของเทศบาลที่ผ่านมา ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพส่วนใหญ่คือเรื่องการประกอบกิจการต่าง ๆ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 5/2538 ออกตามความในพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งหากบุคลากรระดับท้องถิ่น มีความรู้ ความเข้าใจ ถึงปัญหาและหาแนวทางแก้ไขได้ตั้งแต่ระดับพื้นที่แล้ว ปัญหาโดยรวมก็จะลดลงได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552-2553 กรมอนามัยได้จัดอบรมด้านการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพสำหรับบุคลากรเทศบาล แล้วจำนวน 798 แห่ง ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างกรมอนามัย และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น
ที่ปรึกษากรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า "สำหรับในปี 2554 นี้ กรมอนามัยตั้งเป้าหมายอบรมให้ความรู้บุคลากรของเทศบาล จำนวน 300 แห่ง ซึ่งการจัดอบรมในครั้งนี้เป็นรุ่นที่ 3 หลังจากได้จัดอบรมรุ่นที่ 1 เมื่อวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ 2554 ณ จังหวัดเชียงใหม่ และอบรมรุ่นที่ 2 เมื่อวันที่ 2-4 มีนาคม 2554 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป้าหมายที่คาดหวัง คือ ช่วยให้บุคลากรท้องถิ่นมีความรู้ ความเข้าใจที่พร้อมต่อการดำเนินงานด้านการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ และสามารถรองรับต่อการดำเนินงานตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรคสอง อันจะช่วยลดความขัดแย้งต่าง ๆ ในชุมชน ทั้งเรื่องกิจกรรมหรือโครงการด้านการพัฒนากับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการป้องกันและดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนให้มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน?
***
กลุ่มสื่อสารองค์กร / 28 มีนาคม 2554