
สธ. เร่งเครื่องแก้ปัญหาเด็ก-เยาวชนท้องก่อนวัย จัดประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ
กระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2554 ตามติดร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ พ.ศ. ... และร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์วัยทำงานและวัยทอง โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน
การแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและเห็นว่าเป็นผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตอย่างชัดเจน เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนแม่ที่อยู่ในวัยรุ่นเพิ่มมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่กลุ่มวัยดังกล่าว เป็นวัยที่ควรอยู่ในระบบการศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นผู้รับภาระที่มีคุณภาพของประเทศ โดยพบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นจากร้อยละ 13.9 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 16.0 ในปี 2552 การคลอดในสตรีที่อายุน้อยกว่า 20 ปี มีโอกาสเสี่ยงต่อการคลอดบุตรก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม ซึ่งเป็นผลกระทบต่อทารกที่เกิดมาและค่าใช้จ่าย ในการรักษา และพบว่าร้อยละ 46.8 ของสตรีที่ทำแท้งมีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 30 เป็นสตรีที่อายุต่ำกว่า 20 ปี รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ที่เป็นปัญหาเนื่องจากอายุการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเร็วขึ้นคือระหว่าง 15-16 ปี
การดำเนินการแก้ปัญหาในปี 2553 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยได้เร่งรัดเร่งรัดการดำเนินงานพัฒนางานอนามัยการเจริญพันธุ์ โดยส่งเสริมสุขภาวะและสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์สตรีให้มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตสมบูรณ์ พร้อมทั้งจัดทำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ พ.ศ. .... เพื่อคุ้มครองบุคคลให้มีสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ สิทธิทางเพศ สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รับการปรึกษาและบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์จากสถานบริการสาธารณสุขอย่างเหมาะสม มีคุณภาพและมีมาตรฐาน โดยข้อพึงปฏิบัติของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถานบริการสาธารณสุขจัดให้มีการปรึกษาหรือบริการอนามัยการเจริญพันธุ์อย่างเหมาะสม ถูกต้อง ครบถ้วน เพียงพอ และไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารหรือประวัติผู้รับบริการ,สถานศึกษาพัฒนาศักยภาพบุคลากร และจัดการสอนเพศศึกษาอย่างถูกต้อง หน่วยงานรัฐและภาคเอกชนไม่ขัดขวางการลาคลอดตามกฎหมายส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง และหากหน่วยงานมีหญิงมีครรภ์ที่อยู่ในภาวะไม่พร้อมจะมีบุตร ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้หรือไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรด้วยตนเอง ให้หน่วยงานของรัฐหรือสถานประกอบการดังกล่าว ให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือ และดูแลสุขภาพของมารดาและบุตรอย่างเหมาะสม
ประกอบกับเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2553 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ดำเนินงานนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์ที่เน้นการพัฒนาในกลุ่มวัยรุ่น กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยจึงได้ประสานและสนับสนุนให้มีแผนพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์สำหรับวัยรุ่นในระดับจังหวัด โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวกระทรวงคาดหวังให้เกิดการประสานงานด้านการส่งเสริมป้องกันและแก้ไขของหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมและสอดรับกับการจัดบริการสุขภาพที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นให้ครอบคลุมทุกจังหวัดต่อไป
ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติครั้งที่ 1/2554 นี้ มีวาระประชุมที่สำคัญ อาทิ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ พ.ศ..... ร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์วันทำงานและวัยทอง สถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2549-2553 ความสอดคล้องของยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และแผนปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
*** กลุ่มสื่อสารองค์กร / 23 มีนาคม 2554