กรมอนามัย กระตุ้นคนไทยออกกำลังกายหลังพบเพียงร้อยละ ๑๐ ฟิตพอต้านโรค
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมกีฬาอนามัยเกมส์?๕๔ ส่งเสริมการออกกำลังกายในวัยทำงานสร้างสุขภาพดีให้กับตนเอง หวังกระตุ้นคนไทยหันออกกำลังกายมากขึ้นหลังพบว่า มีการออกกำลังกายเพียงพอต่อการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเพียงร้อยละ ๑๐
วันนี้ (๒๕ มกราคม ๒๕๕๔) ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน "ดอกคูน เสียงแคน แดนผ้าไหม อนามัยเกมส์?๕๔ โดยมีศูนย์อนามัยที่ ๖ ขอนแก่น เป็นเจ้าภาพ ณ จังหวัดขอนแก่น ว่า กรมอนามัยได้จัดกิจกรรมกีฬาอนามัยเกมส์ต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรกรมอนามัย เห็นความสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย เพราะปัจจุบันพบว่าประชาชนมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง และยังสนใจการออกกำลังกายในเวลาว่างค่อนข้างน้อย เป็นผลให้มีปัจจัยเสี่ยงและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกี่ยวข้องนับวันยิ่งสูงขึ้น คนไทยมีน้ำหนักเกินและอ้วนเกือบร้อยละ ๓๐ ป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงมากกว่า ๑๓ ล้านคน และเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง หัวใจหลอดเลือด และเบาหวานมากกว่าปีละ ๖๕,๐๐๐ ราย และจากการสำรวจสถานการณ์การเคลื่อนไหวออกแรง/ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพของคนไทยโดยกรมอนามัย พบว่า ประชากรไทยที่มีอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป ร้อยละ ๒๐ มีกิจกรรมทางกายในระดับต่ำ มีกว่าร้อยละ ๓๐ ที่มีกิจกรรมทางกายในระดับสูง หากพิจารณาเฉพาะการออกกำลังกายพบว่า ผู้ใหญ่ออกกำลังกายสัปดาห์ละ ๓ วัน ๆ ละ ๓๐ นาที ร้อยละ ๒๒-๒๔ และมีเพียงร้อยละ ๑๐ เท่านั้น ที่ออกกำลังกายเพียงพอต่อการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยให้หันมาใส่ใจการออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ดร.นพ.สมยศ กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยส่งเสริมให้กลุ่มวัยทำงาน ซึ่งเป็นวัยที่มักมีข้ออ้างว่าไม่มีเวลาว่าง ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วการออกกำลังกายในวัยนี้นับว่ามีความจำเป็นมาก หันมาออกกำลังกายกันมากขึ้น เพื่อให้ร่างกายได้รับการรักษาและฟื้นฟูในส่วนที่สึกหรอไปจากการทำงาน เพราะจากการสำรวจข้อมูลพื้นฐานของคนทำงานในสถานประกอบการพบว่า ต้องทำงานสัปดาห์ละ ๖ วัน วันละ ๘-๙ชั่วโมง โดยขณะที่กำลังปฏิบัติงานนั้นจะยู่ในอิริยาบถเดียวนานมากกว่า ๒๓ ชั่วโมง เวลาพักในแต่ละวันน้อยกว่า ๑ ชั่วโมง และขณะปฏิบัติงานจะต้องออกแรงซ้ำ ๆ กับกล้ามเนื้อและ ข้อต่อ ทำให้มีอาการปวดเมื่อยบริเวณที่ใช้งาน กล้ามเนื้อจะล้าและลดประสิทธิภาพลงเรื่อย ๆ และถ้าเกิน ๓ ชั่วโมงติดต่อกัน ข้อต่อ กระดูกและเส้นเอ็นจะเกิดการยึดติดส่งผลให้มีแคลเซียมยึดเกาะในข้อต่อ ดังนั้น หากอยู่ในท่าเดียวนาน ๆ จะทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยได้ เช่น บริเวณขมับ คอ ไหล่ หลัง ศอก ข้อมือ ข้อนิ้ว สะโพก เอว น่อง ข้อเท้า ฝ่าเท้า เป็นต้น ซึ่งบางครั้งจะมีการกดทับเส้นประสาท มีอาการ ชา ปวดร้าว หน้ามืด มีผลทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และอาจเกิดอุบัติเหตุและข้อผิดพลาดในการทำงานได้
ดร.นพ.สมยศ กล่าวต่อว่า การออกกำลังกายสำหรับวัยทำงานสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมตามเวลาและสถานที่ อาทิ การฝึกกายบริหารแบบง่ายๆ เช่น การยกแขนขึ้นลง การบิดลำตัว การก้ม การเงย จะช่วยการทำงานของปอด หัวใจ กล้ามเนื้อแข็งแรง ทั้งยังช่วยให้ระบบการไหลเวียนของเลือด มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกลุ่มวัยทำงานควรเคลื่อนไหวออกกำลังระดับปานกลางอย่างสัปดาห์ละ ๕ วัน ๆ ละ ๓๐ นาที ซึ่งมีการศึกษาจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าการออกกำลังกายที่หนักปานกลาง หรือออกกำลังปานกลางสะสมให้ได้อย่างน้อยวันละ ๓๐นาทีทุกวันหรือเกือบทุกวัน ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน ลงได้ประมาณร้อยละ ๕๐ และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ประมาณร้อยละ ๓๐ อีกทั้งยังมีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าหากเดินให้มากขึ้น โดยเพิ่มระยะเวลานานขึ้นหรือความเร็วเพิ่มขึ้น ให้มีปริมาณและความหนักปานกลางเทียบเท่ากับการเดินด้วยความเร็ว ๕-๖.๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง สะสมอย่างน้อยวันละ ๓๐ นาทีทุกวันหรือเกือบทุกวัน ช่วยลดความเสี่ยงและส่งผลดีต่อสุขภาพได้เช่นกัน
"ทั้งนี้ การออกกำลังกายแต่ละครั้งจำเป็นต้องยึดแนวในการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพราะหากหักโหมมากเกินไปอาจทำให้เกิดโทษต่อสุขภาพได้เช่นกัน ซึ่งการออกกำลังกายอย่างถูกวิธีนอกจากจะช่วยให้มีร่างกายที่สมบูรณ์แล้ว ยังเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดจากการทำงานในแต่ละวัน อันจะส่งผลต่อสุขภาพจิตที่ดีตามมา ดังนั้น การจัดกิจกรรมอนามัยเกมส์?๕๔ ในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะสร้างความสัมพันธ์ ความสามัคคีในกลุ่มบุคลากรกรมอนามัยเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นให้ทุกคนได้หันมาออกกำลังกายสร้างสุขภาพดีให้ตนเองกันมากขึ้น เพื่อเป็นองค์กรต้นแบบสุขภาพให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ได้หันมาใส่ใจออกกำลังกายอย่างเหมาะสมต่อไป? อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
กลุ่มสื่อสารองค์กร / ๒๕ มกราคม ๒๕๕๔