คุณกำลังมองหาอะไร?

ข่า

ข่าวแจก"สธ. ปลูกฝังเด็กไทยกินอาหารถูกหลักเติบโตสมวัย ลดปัญหาเด็กอ้วน เตี้ย"

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

16.10.2558
1
0
แชร์
16
ตุลาคม
2558

ข่าวแจก"สธ. ปลูกฝังเด็กไทยกินอาหารถูกหลักเติบโตสมวัย ลดปัญหาเด็กอ้วน เตี้ย"

        กระทรวงสาธารณสุข หนุนโครงการอาหารในโรงเรียน เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนรับประทานอาหารให้ครบตามหลักโภชนาการ เพื่อการเจริญเติบโตที่สมวัย

        นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้กำหนดให้วันที่ 16 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันอาหารโลก เพื่อกระตุ้นให้นานาประเทศเห็นความสำคัญเรื่องอาหารและการพัฒนา และร่วมกันต่อสู้กับความอดอยาก หิวโหย ทุพโภชนาการ และความยากจน ซึ่งยังคงเป็นปัญหาของโลก โดยคำขวัญวันอาหารโลกประจำปี 2558 คือ "Social Protection and Agriculture : breaking the cycle of rural poverty? (การคุ้มครองทางสังคมและการเกษตร : หยุดวงจรความยากจนในชนบท) สำหรับในประเทศไทยมีการดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหาร โดยคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ที่มีความเกี่ยวข้องทั้ง 11 กระทรวง ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) ด้านความมั่นคงอาหาร 2) ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร 3) ด้านอาหารศึกษา และ 4) ด้านการบริหารจัดการ เพื่อให้ประเทศไทยมีฐานทรัพยากรในการผลิตอาหารที่สมบูรณ์และยั่งยืน ชุมชนเกษตรกรมีการผลิตอาหารที่เข้มแข็ง มีระบบเศรษฐกิจและการจัดการอาหารที่เป็นธรรม ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ
        "อดีตประชาชนในประเทศไทยโดยเฉพาะเด็กก่อนวัยเรียนอยู่ภาวะทุพโภชนาการ ทั้งโรคขาดโปรตีนและพลังงาน โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก โรคขาดวิตามินเอ โรคเหน็บชาจากการขาดวิตามินบี 1 โรคปากนกกระจอกจากการขาดวิตามินบี 2 โรคคอพอก จากการขาดธาตุไอโอดีน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการไม่สมวัย กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดทำแผนอาหารและโภชนาการแห่งชาติขึ้น เพื่อบรรจุเข้าในแผนพัฒนาระยะที่ 4 เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ปัจจุบันกลับพบว่า ประเทศไทยอยู่ในภาวะทั้งภาวะโภชนาการขาดและเกิน คือ ขาดในสิ่งที่จำเป็นและเกินในสิ่งที่ไม่จำเป็น ซึ่งผลจากการสำรวจสถานการณ์เด็กในประเทศไทย MICS4 ปี 2555 พบว่า เด็ก 0-5 ปี มีภาวะเตี้ย 16.3 ผอม 10.9 เริ่มอ้วนและอ้วน 9.2 และจากการเฝ้าระวังภาวะโภชนาการเด็กอายุ 6-18 ปี โดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุขปี 2556 พบภาวะเตี้ย ร้อยละ 7.3 ผอมร้อยละ 6.9 เริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 9.2 และในปี 2557 พบเด็กอายุ 6-12 ปี เริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 9.5 จะเห็นได้ว่าเด็กที่เริ่มอ้วนและอ้วนจะมีโอกาสเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนและเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตั้งแต่อายุยังน้อย?รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
        แพทย์หญิงนภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าวว่า กรมอนามัยได้ผลักดันโครงการต่างๆ เพื่อให้เด็กวัยเรียนมีโภชนาการสมวัย ไม่อ้วน เตี้ย หรือผอมจนเกินไป อาทิ 1) โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน โดยให้โรงเรียนเลือกวัตถุดิบที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีโรงครัวเป็นสัดส่วน แม่ครัวต้องมีสุขลักษณะที่ดี อุปกรณ์การครัวมีจำนวนเพียงพอ รวมทั้งการเกษตรในโรงเรียน ให้สามารถผลิตวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารได้ ช่วยพัฒนาทักษะและทัศนคติที่ดีเพื่อเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต 2) โครงการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนและธาตุเหล็ก โดยให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับอย่างเพียงพอ 3) โครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพในเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารให้มีการเจริญเติบโตสมวัย และมีอาหารเพียงพอ "นอกจากนี้ กรมอนามัยยังได้ปรับปรุงปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยได้รับสารอาหารที่เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกายไม่ขาดไม่เกิน รวมทั้งส่งเสริมการบริโภคอาหารของคนไทยลดหวาน มัน เค็ม เติมเต็มผักและผลไม้ ตามหลัก 6 : 6 : 1 คือ บริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา และเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา ให้ประชาชนสามารถปฏิบัติตัวในเรื่องอาหารและโภชนาการ เช่น การกินอาหารเพื่อให้มีสุขภาพดี เลือกวัตถุดิบมาใช้ในการปรุงอาหาร ปลูกผักสวนครัวกินเอง? ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าวในที่สุด
***
สำนักสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง/ 15 ตุลาคม 2558

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน

ติดตามข่าวสารได้ที่

แทงบอลออนไลน์ || ดูบอลสด UFABET