กระทรวงสาธารณสุข แนะสตรีอายุ 40 ปีขึ้นไป เตรียมพร้อมสุขภาพก่อนเข้าสู่วัยทอง หลังพบ ร้อยละ 28 เสี่ยงต่ออาการวัยทอง ร้อยละ 48 มีโรคประจำตัว คือ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูก
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 18 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันสตรีวัยทองโลก (World Menopause Day) เพื่อรณรงค์ให้สตรีที่อยู่ในวัยทองมีความรู้ความเข้าใจถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพที่จะเกิดขึ้นหลังหมดประจำเดือน ประเทศไทยมีสตรีอยู่ในช่วงวัยทอง(อายุ 45-59 ปี) ประมาณ 7 ล้านคน (ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย ปี 2557) และจากการสำรวจภาวะสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพในผู้หญิงไทย ที่มีอายุ 45-59 ปี ของสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย ปี 2554 พบว่า ร้อยละ 28 มีความเสี่ยงสูงต่ออาการวัยทอง และร้อยละ 48 มีโรคประจำตัว โรคที่พบมาก ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูก
นายแพทย์วชิระ กล่าวเพิ่มเติมว่า สตรีเมื่อเข้าสู่วัยทองวัยจะพบการเปลี่ยนแปลงต่ออวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะ การทำงานของรังไข่ลดลงอย่างมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา โดยสามารถแบ่งปัญหาสุขภาพออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) อาการวัยทอง หรืออาการที่สัมพันธ์กับภาวะหมดประจำเดือน จะมีอาการร้อนวูบวาบตามตัวและหน้าอก อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด เหงื่อออกมากโดยเฉพาะเวลากลางคืน ช่องคลอดแห้ง ผิวหนังแห้ง ปัสสาวะบ่อยหรือกลั้นปัสสาวะ ไม่อยู่ นอนไม่หลับ ความต้องการและความรู้สึกทางเพศลดลง 2) โรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของร่างกายตามอายุ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะอ้วนลงพุง ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะดื้อต่ออินซูลิน และโรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เป็นต้น กระทรวงสาธารณสุขจึงให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง จัดตั้งเป็นคลินิกวัยทองโดยเฉพาะ หรือบูรณาการเข้ากับคลินิกส่งเสริมสุขภาพอื่นๆ โดยจะมีบริการให้การปรึกษากับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับอาการวัยทอง และให้บริการตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ตรวจน้ำตาลในเลือด ตรวจความหนาแน่นของกระดูก ตรวจมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และประเมินอาการวัยทอง หากพบว่าสตรีวัยทองท่านใดมีอาการมากจนเป็นปัญหาต่อการดำเนินชีวิต แพทย์อาจพิจารณาให้ฮอร์โมนในระยะสั้นๆ เพื่อการรักษา หากสตรีวัยทองท่านใดสงสัยว่า มีอาการวัยทองหรือปัญหาสุขภาพ สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน
ด้านนายแพทย์ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า อาการวัยทอง ไม่ได้เกิดกับผู้หญิงทุกคน แต่เมื่อมีอาการแล้ว อาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหากับชีวิตคู่หรือครอบครัวได้ เนื่องจากมีอารมณ์แปรปรวนหงุดหงิดง่าย ความต้องการทางเพศลดลง ดังนั้นการดูแลสุขภาพแต่เนิ่น ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพ คือ 1) รับประทานอาหารประเภทแคลเซียมเพิ่มขึ้น อาทิ ผักใบเขียวทุกชนิด งาขาว งาดำ นม ปลาเล็กปลาน้อย เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน และอาหารที่มีไฟโตเอสโตรเจน อาทิ ถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ ถั่วแดง ฟักทอง กะหล่ำปลี บรอกโคลี แครอท ข้าวกล้อง ช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม 2) ลดอาหารประเภท แป้ง อาหารมัน อาหารทอด อาหารเค็ม น้ำหวาน ชา กาแฟ หรืออาหารที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เพราะอาจทำให้มีอารมณ์แปรปรวน และกระวนกระวายมากขึ้น รวมทั้งเป็นการควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง และป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง
"3) งด เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และบุหรี่ 4) ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ โยคะ หรือกีฬาที่ชื่นชอบ เมื่ออายุมากขึ้น ไม่ควรออกกำลังกายที่ใช้แรงกระแทก โดยเฉพาะข้อเข่า หรือการออกกำลังกายที่ทำให้เข่ารับน้ำหนักมาก จนเป็นสาเหตุของข้อเข่าเสื่อม 5) นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง ทำให้เพิ่มความจำ มีสุขภาพที่ดี มีอายุยืนยาว 6) ศึกษาหาความรู้และทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจ 7) หมั่นดูแลน้ำหนักตัว ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ 8) รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ มีความหลากหลายและพอเหมาะ 9) ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพื่อให้เอื้อต่อสุขภาพ 10) มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่นๆ 11) รู้จักผ่อนคลายความเครียดอย่างเหมาะสม และ 12) ดำรงตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม?
นายแพทย์ณัฐพร กล่าวในตอนท้ายว่า ปัญหาที่สำคัญของสตรีวัยทอง คือ เมื่อมีอาการวัยทองแล้วไม่ยอมรับ จึงไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้ ดังนั้น การดูแลสตรีที่มีอาการวัยทอง หรือมีปัญหาสุขภาพ ควรเป็นความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งนี้ ตนเอง คนในครอบครัว เพื่อนรอบข้าง ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกระดับ เพื่อให้สตรีวัยทองเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และก้าวสู่วัยสูงอายุที่มีสุขภาพดี
***
สำนักสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง/ 16 ตุลาคม 2558