กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงสุขภาพผู้เกษียณอายุราชการมีภาวะซึมเศร้า เหงา เครียด แนะเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อสุขภาพที่ดี ไม่มีโรค
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าเมื่อถึงวันที่ 30 กันยายนของทุกปีเป็นช่วงสิ้นสุดงบประมาณในส่วนราชการต่างๆ และช่วงเดียวกันนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของผู้ที่อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ก้าวข้ามสู่วัยเกษียณ เป็นเวลาที่หลายคนจะได้วางมือจากการทำงานประจำที่เป็นกิจวัตรประจำวัน เข้าสู่การพักผ่อนอย่างเต็มที่ มีเวลาว่างที่จะทำงานที่ตัวเองรักได้อย่างเต็มที่ และขณะเดียวกันก็เป็นการก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว การเกษียณอายุ นับเป็นการเปลี่ยนผ่านแบบเฉียบพลันในช่วงชีวิต ช่วงเวลานี้ผู้เกษียณมีเวลาว่างมากขึ้น ต้องมานั่งอยู่บ้าน ทำให้หลายคนอาจปรับตัวไม่ทันเพราะช่วงชีวิตการทำงานที่ผ่านมาต้องพบปะเพื่อนร่วมงานทุกวัน และมีงาน หรือกิจกรรมที่ต้องทำทุกวัน อาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจอย่างยากที่จะเลี่ยงได้ ซึ่งควรเตรียมตัว เตรียมใจก้าวสู่วัยเกษียณ ไม่วิตกกังวลมากจนเกินไปกับชีวิตหลังเกษียณ มองโลกในแง่ดี คิดบวก ให้เวลากับการดูแลสุขภาพ มีเวลาเตรียมอาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกาย ได้อยู่กับครอบครัวที่รัก ทำงานอดิเรกที่ชอบ ไม่ต้องเคร่งเครียดกับการทำงานอีกต่อไป ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ผู้ที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยเกษียณต้องทำความเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งสภาวะตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม ซึ่งในช่วงวัยก่อนเกษียณเข้าสู่วัยผู้สูงอายุควรมีการเตรียมตัวหากลุ่มเพื่อน กลุ่มเครือข่ายต่างๆ ไว้ หรืออาจหากลุ่มสมาชิกผู้สูงอายุใกล้ๆ เพื่อจะได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ เสริมคุณค่าชีวิตให้กับผู้สูงอายุ และเป็นการส่งเสริมสุขภาพกาย จิตใจ และลดความเสี่ยง ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า เหงา เครียด เนื่องจากเคยชินกับการทำงานและเข้าสังคมเป็นประจำ
ทางด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การดูแลสุขภาพสำหรับวัยเกษียณที่ก้าวสู่วัยผู้สูงอายุมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งควรได้รับอาหารที่มีประโยชน์ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ที่หลากหลายไม่ซ้ำซาก ควรเลือกกินข้าวกล้อง หรือข้าวซ้อมมือ เพื่อให้ได้วิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหารที่มีประโยชน์ กินผักมื้อละ 2 ทัพพี และผลไม้เป็นประจำ วันละ 3-5 ส่วน เพื่อให้ได้รับวิตามิน และแร่ธาตุ ใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด และโรคมะเร็ง กินปลาเป็นหลัก สลับกับเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ควรดื่มนมเป็นประจำวันละ 1 แก้ว เพื่อให้ได้รับแคลเซียม และวิตามินต่างๆ อย่างเพียงพอ เลือกกินอาหารที่มีไขมันแต่พอควร ปรุงอาหารด้วยวิธี ต้ม นึ่ง อบ แทนการทอด หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด เค็มจัด และกินอาหารสะอาดปราศจากการปนเปื้อน และหากมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากควรดัดแปลงอาหารให้อ่อนนิ่ม หรือมีขนาดเล็กลง ถ้าเป็นเส้นควรตัดให้สั้น ผักต้องหั่นชิ้นเล็ก หรือเลือกผักที่อ่อนนิ่ม หากเป็นเนื้อสัตว์ที่เหนียวเคี้ยวยากควรสับหรือบดให้ละเอียดก่อนนำมาปรุงอาหาร หรือเลือกกินเนื้อปลาแทน และให้มีน้ำขลุกขลิกเพื่อให้อาหารอ่อนนิ่มขึ้น นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายหรือกายบริหารทุกวันอย่างน้อย สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ไม่ควรออกกำลังกายที่ใช้แรงกระแทก โดยเฉพาะข้อเข่าเพราะจะทำให้เข่ารับน้ำหนักมากขึ้นจนเป็นสาเหตุของข้อเข่าเสื่อม
"ทั้งนี้ การดูแลวัยเกษียณที่ก้าวสู่วัยผู้สูงอายุ นอกจากจะเอาใส่ใจด้านอาหารที่บริโภคในแต่ละวันแล้ว ต้องให้ความสำคัญกับด้านจิตใจ และสังคมด้วย เพราะทุกอย่างล้วนเป็นปัจจัยที่เกื้อกูลกันส่งผลให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและมองเห็นคุณค่าของตนเองอย่างภาคภูมิใจ นอกจากนี้ การเตรียมสะสมเงินสำรองไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ และประมาณการรายรับ-รายจ่ายในแต่ละเดือน จะช่วยลดปัญหาและภาวะเครียดจากค่าใช้จ่ายที่ไม่พอใช้ได้ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของที่อยู่อาศัย จัดบ้านและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเพื่อลดอุบัติเหตุและอันตรายต่างๆ เช่น ใช้วัสดุกันลื่นในห้องน้ำ มีราวจับ ใช้โถส้วมแบบนั่งราบ จัดบ้านให้โล่งและอากาศถ่ายเทได้สะดวก สำหรับลูกหลานและญาติควรให้ความสำคัญกับผู้เกษียณอายุ เพราะถือเป็นผู้สูงอายุประจำบ้าน ควรหาเวลาเพื่อพบปะหรือโทรศัพท์ถามทุกข์สุขก็จะช่วยให้ผู้เกษียณไม่เหงาและเกิดภาวะซึมเศร้า? อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
สำนักสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง/ กันยายน 2558