กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงสุขภาพผู้สูงอายุ แนะออกกำลังกายเพื่อสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดการเสื่อมสภาพของร่ายกายให้ชะลอช้าลง ป้องกันการหกล้ม
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กลุ่มวัยผู้สูงอายุที่มักมีร่างกายที่เสื่อมสภาพ ตามกาลเวลา การออกกำลังกายจึงจำเป็นอย่างยิ่งเพราะจะช่วยพัฒนาความอดทนของระบบการหายใจและการไหลเวียนเลือดความ แข็งแรงและความอดทนของกล้ามเนื้อและกระดูกอีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ลดภาวะซึมเศร้าและสภาวะสมองเสื่อม ซึ่งเมื่อสุขภาพร่างกายดี ก็จะช่วยชะลอความเสื่อมของอวัยวะต่างๆได้ การออกกำลังกายสำหรับกลุ่มวัยนี้ ควรออกกำลังกายในระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรืออย่างน้อย 75 นาที/สัปดาห์ สำหรับการออกกำลังกายในระดับหนัก และควรเพิ่มการออกกำลังกายที่เสริมสร้างกล้ามเนื้อหลักอย่างน้อย 2 วัน/สัปดาห์ เสริมสร้างความสมดุลของร่างกายอย่างน้อย 3 วัน/สัปดาห์
ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า การออกกำลังกายในวัยสูงอายุจะแตกต่างกับวัยผู้ใหญ่หรือวัยทำงานไม่มากนัก ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาคือการออกกำลังกายที่เสริมสร้างความสมดุลของร่างกายหรือการทรงตัว เนื่องจากผู้สูงอายุมีความสามารถในการทรงตัวลดลงจากการเสื่อมสภาพของระบบประสาท กระดูก และกล้ามเนื้อ ทำให้ความสามารถในการควบคุมคุมการเคลื่อนไหว ซึ่งปัจจุบันพบว่าคนที่อายุมากกว่า 60 ปี ล้มอย่างน้อยปีละครั้ง และเมื่ออายุมากกว่า 80 ปี การล้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 และเกินกว่าครึ่งเกิดการล้มซ้ำ ประกอบกับมีโรคกระดูกพรุนที่พบมากในผู้สูงวัยทำให้กระดูกหักถึงร้อยละ 3-5 และเกิดทุพพลภาพเพิ่มภาวะพึ่งพิงและมีคุณภาพชีวิตต่ำลง เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญที่ต้องได้รับการป้องกันและให้ความรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้องเหมาะสม
"การออกกำลังกายเพื่อป้องกันการหกล้ม จึงเป็นการเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ในขณะที่ฝึกการทรงตัวซึ่งมีรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ รำมวยจีน ลีลาศ การออกกำลังกายกับเก้าอี้หรือโอทาโก (Otago) เป็นต้น รวมถึงการฝึกท่าง่ายๆ ด้วยตนเองที่บ้าน เช่น เดินต่อเท้า ท่ายกเข่า ท่ายกขาด้านข้าง ท่ายืนด้วยปลายเท้า ท่าก้าวขึ้นบันได ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในการฝึกการทรงตัว ควรระวังในเรื่องของท่าทางให้มีการถ่ายเทน้ำหนักผ่านลงสะโพก หัวเข่าและข้อเท้าในแนวเดียวกัน หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงท่าอย่างรวดเร็ว ไม่ควรเดินหรือฝึกทรงตัวในพื้นที่ลื่น แต่ควรฝึกในที่มีแสงสว่างเพียงพอ ใช้เก้าอี้หรือโต๊ะที่มั่นคงช่วยในการจับหรือพยุงตัว หรือใช้อุปกรณ์หรือเครื่องช่วยพยุงในการเดินร่วมด้วย? อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
***
สำนักสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง /กันยายน 2558