คุณกำลังมองหาอะไร?

ข่า

ข่าวแจก"กรมอนามัย เตือน ฝนฟ้าคะนองเสี่ยงฟ้าผ่า เลี่ยงอยู่ที่โล่งแจ้ง ต้นไม้สูง ย้ำ งดใช้มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์"

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

14.08.2558
5
0
แชร์
14
สิงหาคม
2558

ข่าวแจก"กรมอนามัย เตือน ฝนฟ้าคะนองเสี่ยงฟ้าผ่า เลี่ยงอยู่ที่โล่งแจ้ง ต้นไม้สูง ย้ำ งดใช้มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์"

 
 
        กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือน ช่วงฝนตกหนักประชาชนระวังฟ้าผ่า แนะ เลี่ยงอยู่ในที่โล่งแจ้ง ห้ามอยู่ใกล้ที่สูง เช่น ต้นไม้ เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา งดใช้โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ขณะฝนฟ้าคะนอง
        ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภูมิอากาศแบบเขตร้อน จึงมีสภาพอากาศร้อนอบอ้าว เอื้อต่อการก่อตัวของพายุฟ้าคะนองหรือพายุฤดูร้อน และที่สำคัญการเกิดพายุฝนฟ้าคะนองมักจะมาพร้อมกับการเกิดฟ้าผ่า ซึ่งจากข้อมูลระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บแห่งชาติ กรณีการบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกฟ้าผ่าของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ปี 2551-2555 มีจำนวนผู้บาดเจ็บรุนแรงจากการถูกฟ้าผ่า ทั้งสิ้น 180 ราย เสียชีวิต 46 ราย โดยในปี 2555 พบว่า ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงเป็นกลุ่มอาชีพเกษตรกร ร้อยละ 45.71 รองลงมาคือ นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 40 และผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 8.5
        ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า ประชาชนสามารถการป้องกันและลดความเสี่ยงจากการถูกฟ้าผ่าได้โดย 1) หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง เช่น ทุ่งนา สนามฟุตบอล สระว่ายน้ำ สนามกอล์ฟ หากเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งไม่ได้ ต้องไม่อยู่ใกล้ที่สูง เช่น ต้นไม้สูง เสาโทรศัพท์ เสาไฟฟ้า ห้ามกางร่มที่มีปลายโลหะยอดแหลมในที่โล่งแจ้ง และอย่าถือวัตถุที่ชูสูงขึ้นไปจากตัว เช่น เบ็ดตกปลา ไม้กอล์ฟ ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ เนื่องจากมีวัสดุจำพวกโลหะเป็นส่วนประกอบ ทำให้เกิดการเหนี่ยวนำคลื่นไฟฟ้า มีผลให้แบตเตอรี่เกิดการลัดวงจรและระเบิดได้ รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ด้วย ถอดวัตถุหรือเครื่องประดับที่เป็นโลหะออกจากร่างกาย 2) กรณีหลบอยู่ในรถยนต์ ห้ามจอดรถใกล้ต้นไม้ใหญ่ ตึกสูง เสาไฟฟ้าหรือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ให้ดับเครื่องยนต์ ปิดกระจก และอย่าสัมผัสกับส่วนใดส่วนหนึ่งของรถที่เป็นโครงโลหะ ควรนั่งกอดอกหรือวางมือบนตัก 3) กรณีอยู่ในอาคาร ไม่ควรออกจากอาคารในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ปิดประตูและหน้าต่างทุกบาน อยู่ห่างจากผนังอาคาร ประตูและหน้าต่าง ห้ามใช้โทรศัพท์บ้านหรือเล่นอินเทอร์เน็ต ถอดปลั๊กอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าออกให้หมด และดึงเสาอากาศของโทรทัศน์ออกเพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดอัคคีภัยหากเกิดฟ้าผ่าลงมาที่บ้าน หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับจุดที่ไฟฟ้าสามารถวิ่งเข้าสู่ตัวเราได้ เช่น สายไฟ สายอากาศ สายโทรศัพท์ บริเวณน้ำท่วมขัง
         "ทั้งนี้ หากพบเห็นผู้ที่ถูกฟ้าผ่า ให้สังเกตบริเวณที่เกิดเหตุว่ายังมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าหรือไม่ ถ้ามีให้เคลื่อนย้ายผู้ถูกฟ้าผ่าไปยังตำแหน่งที่ปลอดภัยเพื่อป้องกันตัวจากการถูกฟ้าผ่า โดยสามารถแตะต้องตัวผู้ถูกฟ้าผ่าได้ทันที เนื่องจากคนที่ถูกฟ้าผ่าจะไม่มีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่ในตัวซึ่งต่างจากผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดหรือไฟฟ้าซ็อต โทรแจ้งเหตุผ่านทางหมายเลข 1669 เพื่อเรียกใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมให้ข้อมูลสถานที่เกิดเหตุและอาการของผู้ป่วย จากนั้นปฏิบัติตามคำแนะนำเบื้องต้นจากศูนย์รับแจ้งเหตุในการดูแลผู้ป่วย ระหว่างรอรถฉุกเฉินมารับผู้ป่วย กรณีที่ผู้ถูกฟ้าผ่า หมดสติ หัวใจหยุดเต้นไปชั่วขณะ โดยสังเกตได้จากอาการ ริมฝีปากเขียว สีหน้าซีดเขียวคล้ำ ทรวงอกเคลื่อนไหวน้อยมากหรือไม่เคลื่อนไหวเลย ชีพจรบริเวณคอเต้นช้าและเบามาก ให้รีบปฐมพยาบาลโดยใช้การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR)คือ ผายปอดด้วยการให้ลมทางปากหรือที่เรียกว่า การเป่าปาก ร่วมกับการนวดหัวใจ และรีบนำผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว? อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
***
สำนักสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง/14สิงหาคม 2558
 

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน

ติดตามข่าวสารได้ที่

แทงบอลออนไลน์ || ดูบอลสด UFABET