คุณกำลังมองหาอะไร?

ข่า

ข่าวแจก"สธ.เผย UNFPA ยกสตรีและเยาวชนหญิงเป็นกลุ่มเปราะบาง ย้ำยามเจอวิกฤติต้องเหลียวแล"

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

13.07.2558
9
0
แชร์
13
กรกฎาคม
2558

ข่าวแจก"สธ.เผย UNFPA ยกสตรีและเยาวชนหญิงเป็นกลุ่มเปราะบาง ย้ำยามเจอวิกฤติต้องเหลียวแล"

        สธ.เผย UNFPA ยกสตรีและเยาวชนหญิงเป็นกลุ่มเปราะบาง ย้ำยามเจอวิกฤติต้องเหลียวแล กระทรวงสาธารณสุข เผยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ให้ความสำคัญกับกลุ่มสตรีและเยาวชนหญิงที่มีความเปราะบางมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ เนื่องในวันประชากรโลกปี 2558 เน้นย้ำให้การช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินและภัยพิบัติ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมรับมือทั้งด้านสุขภาพจิต โภชนาการ อนามัยการเจริญพันธุ์ และเอดส์ กับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
        ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันที่ 11 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันประชากรโลก ปีนี้ได้เน้นให้ความสำคัญกับกลุ่มประชากรที่มีภาวะเปราะบางต่อสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมโดยเล็งเห็นว่า สตรีและเยาวชนหญิงทุกคนมีความเปราะบางมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ ในภาวะฉุกเฉิน และต้องการได้รับความช่วยเหลือแบบเฉพาะทางที่มักจะถูกมองข้ามอยู่เสมอในภาวะวิกฤติ ดังนั้นการรักษาความปลอดภัย ตลอดจนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสุขภาพให้ดีอยู่ตลอดนั้นจะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของครอบครัวและชุมชน สหประชาชาติได้มอบหมายให้กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ(UNFPA) ช่วยส่งเสริมให้สตรีทั่วโลกมั่นใจได้ว่าจะได้รับสิทธิอย่างทั่วถึงและปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ ซึ่งUNFPA ได้ร่วมมือกับนานาประเทศดำเนินงานด้านสุขภาวะทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ในสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในการตั้งครรภ์ การคลอดอย่างปลอดภัย การดูแลหลังคลอดการวางแผนครอบครัวความรุนเเรงทางเพศ อนามัยวัยรุ่นและการพัฒนาระบบข้อมูลด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ เพราะที่ผ่านมาสตรีและเยาวชนไทยประสบปัญหาต่างๆ อาทิ ปัญหาการทำแท้ง ซึ่งจากรายงานเฝ้าระวังการแท้งในประเทศไทยล่าสุด พบว่าผู้ป่วยทำแท้งเป็นกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 27.5 และเป็นกลุ่มอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 46.5 ส่วนใหญ่ร้อยละ 30.8 ยังเป็นนักเรียนนักศึกษา ผู้ป่วยทำแท้งมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงร้อยละ 11 ซึ่งผู้ป่วยทำแท้งจะมีผลกระทบทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ ที่จำเป็นจะต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน
        ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นจึงได้มีการเตรียมพร้อมในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินที่เกิดจากภัยพิบัติอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในด้านสุขภาพจิต โภชนาการ อนามัยการเจริญพันธุ์ และเอดส์ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกรมวิชาการ ได้แก่ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต และผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการจึงได้ร่วมมือกันจัดทำคู่มือการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินให้สอดคล้องกับประเทศไทยขึ้น โดยได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษเพื่อการบริหารจัดการที่ดีและเหมาะสมแก่ประชาชนคนไทยเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศไทยสำหรับการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ครอบคลุมเนื้อหา 4 ประเด็น คือ 1) อนามัยแม่และเด็ก โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ประสบภัยที่จะให้การดูแลสุขภาพของประชากรกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ เด็กแรกเกิดจนถึง 5 ปีได้อย่างมีคุณภาพและทันเหตุการณ์ 2) การวางแผนครอบครัว การจัดบริการชั่วคราวหรือสำรองเวชภัณฑ์วางแผนครอบครัวที่จำเป็น และแนวทางปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่ในการติดตาม หากการให้บริการวางแผนครอบครัวหยุดชะงักหรือไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ในกรณีที่การให้บริการต้องใช้เทคนิคการปราศจากเชื้อ เช่น ห่วงอนามัย ยาฝังคุมกำเนิด การทำหมันหญิง หมันชาย ควรให้คำแนะนำและให้ผู้รับบริการเลือกใช้วิธีคุมกำเนิดชนิดอื่นไปก่อน และให้กลับมารับบริการวิธีที่ต้องการเลือกใช้หลังจากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน "3) การดูแลและป้องกันผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยมีหน่วยบริการในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีในด้านแนวทางการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี อาทิ การติดตามผู้ป่วยขาดการรักษา การติดตามป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยา และแนวทางด้านการจัดการ อาทิ การบริหารยาเวชภัณฑ์ในภาวะฉุกเฉิน การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และ4) การป้องกันและจัดการกับความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงต่อผู้หญิงในมิติเพศภาวะ อาทิ จัดให้มีการให้ความรู้เรื่องการป้องกันและการกระทำให้เกิดความรุนแรงทางเพศ สำหรับกลุ่มเสี่ยงให้สามารถป้องกันตนเองได้ จัดตั้งคณะทำงานดูแลความปลอดภัยจากความรุนแรงทางเพศในที่พักชั่วคราวและในชุมชน ทั้งหมดนี้จะดูแลเริ่มตั้งแต่ระยะก่อนเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ระยะเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน และระยะหลังเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งการวางแผนการติดตามการดำเนินงานอนามัยการเจริญพันธุ์ในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นระยะๆ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ? รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
        ทางด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การดำเนินงานที่ผ่านมา ประเทศไทยได้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาแล้วในเรื่องการวางแผนครอบครัว งานอนามัยแม่และเด็ก อย่างไรก็ตาม ประเด็นการลดความรุนแรงต่อสตรี การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย การติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ ยังคงเป็นเป้าหมายที่ทุกภาคส่วนต้องดำเนินงานร่วมกัน โดยส่งเสริมให้กลุ่มสตรี วัยรุ่นและเยาวชน เข้าถึงสิทธิและบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ
        "ทั้งนี้ กรมอนามัยได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2553?2557) เพื่อให้วัยรุ่นเข้าถึงบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ และลดปัญหาการตั้งครรภ์ โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาอนามัยการเจริญพันธุ์แบบบูรณาการ ส่งเสริมการจัดบริการสุขภาพที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่น เช่น สนับสนุนการจัดตั้งคลินิกวัยรุ่นในโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อให้วัยรุ่นเข้าถึงการให้คำปรึกษา ซึ่งขณะนี้มีคลินิกวัยรุ่นในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 835 แห่ง บริการด้านสุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์ และส่งเสริมการเข้าถึงบริการวางแผนครอบครัวและอนามัยการเจริญพันธุ์ เพื่อให้ชายหญิงวัยเจริญพันธุ์มีความรู้เกิดความตระหนักต่อปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และเข้าถึงบริการวางแผนครอบครัวและอนามัยการเจริญพันธุ์ การบริการคุมกำเนิดที่เหมาะสม และมีระบบการดูแลช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมขึ้น บริการให้คำปรึกษาแบบมีทางเลือก ทั้งทางเลือกในการตั้งครรภ์ต่อไปและทางเลือกเพื่อยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย? อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
 
สำนักสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง/ 10 กรกฎาคม 2558

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน

ติดตามข่าวสารได้ที่

แทงบอลออนไลน์ || ดูบอลสด UFABET