กรมอนามัย เผยตากแดดนาน 15 นาที เสี่ยงรับรังสียูวีที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพผิว แนะประชาชนให้ระวังและป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต ลดเสี่ยงมะเร็งผิวหนัง และเป็นอันตรายต่อดวงตา ทำให้เสี่ยงเกิดโรคต้อกระจกตามมา
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า แสงแดดมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต แต่หากได้รับมากเกินไปเป็นระยะเวลานานเพียง 15 นาที รังสียูวี ก็สามารถทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย รวมทั้งผิวหนัง นัยน์ตา และก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ซึ่งในประเทศไทยพบผู้ป่วย จำนวน 300-400 รายต่อปี โดยทำให้เกิดการเจริญเติบโตของเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติ เนื่องจากการได้รับแสงแดดปริมาณมาก ทั้งยูวีเอ และยูวีบี ส่วนยูวีซี มีพลังงานสูงที่สุด อันตรายมากที่สุด แต่พบได้น้อยเนื่องจากจะถูกชั้นบรรยากาศกรองเอาไว้ การป้องกันผิวหนังจากการสัมผัสแสงแดดจึงควรใช้ครีมกันแดดที่มี SPF 15 หรือมากกว่า ทาบริเวณผิวหน้าและบริเวณที่ต้องสัมผัสกับแสงแดดมาก โดยเฉพาะ 3 จุดสำคัญบนร่างกายที่ไม่ควรละเลยในการป้องกันรังสียูวี จุดแรกคือ ริมฝีปาก ควรทาลิปบาล์มที่มีสารป้องกันแสงแดด โดยสามารถทาซ้ำได้บ่อย จุดที่สองคือผิวตัว และจุดสุดท้ายคือผิวมือ ควรทามอยส์เจอไรเซอร์บำรุง ผิวมือบ่อย ๆ และทาครีมกันแดดร่วมด้วย
ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า รังสียูวีในแสงแดดเป็นอันตรายต่อดวงตาได้ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้น ทำให้เกิดอาการและโรคทางสายตาได้ เช่น ภาพไม่ชัด ดวงตาการอักเสบ และโรคกระจกตาอักเสบ ส่วนในระยะยาว รังสีอาจทำให้จอประสาทตาเสื่อมเนื่องจากปัจจัยด้านอายุ ซึ่งต้อกระจกคือสาเหตุอันดับหนึ่งของ การตาบอด และมีจำนวนถึง 16 ล้านคนทั่วโลก โดยกว่า 3 ล้านของคนที่สูญเสียการมองเห็น เนื่องจากการสัมผัส รังสียูวีมากเกินไปเป็นเวลานาน จึงควรป้องกันสายตาหรือถนอมสายตาด้วยแว่นตากันแดดที่มีคุณภาพ
"ทั้งนี้ การป้องกันรังสียูวี ให้หลีกเลี่ยงการตากแดดในช่วงเวลาที่มีรังสียูวีมากๆ คือเวลาประมาณ 09.00 ? 15.00 น. หากจำเป็นต้องตากแดดก็ควรใส่เสื้อแขนยาวคอปิด กางร่มหรือใส่หมวกปีกกว้าง ทาครีมกันแดดเป็นประจำ และการใช้ครีมบำรุงผิว แชมพูกันแดด ก็สามารถช่วยสร้างความชุ่มชื้น ปกป้อง และกันแดดให้กับผิวพรรณ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เรียนว่ายน้ำหรือเล่นกีฬากลางแจ้ง เพราะแสงยูวี จะมีผลเสียต่อผิวหนังแบบสะสม การใช้ครีม กันแดดตั้งแต่เด็กจะป้องกันผลเสียจากแสงแดดได้ดีกว่าตอนเป็นผู้ใหญ่? อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
***
สำนักสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง/ 29 เมษายน 2558