กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย ปลาไทย แหล่งโปรตีน โอเมก้า 3 เช่น ปลาจะละเม็ดขาว ปลาสำลี ปลากะพงขาว ปลาดุกปลาสวาย ปลาช่อน ปลาสลิด สูง พร้อมย้ำ กินเป็นประจำสลับกันทั้งปลาทะเลและปลาน้ำจืด ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ซึ่งส่งผลดีต่อลูก
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ปลาเป็นอาหารที่มีโภชนาการสูงเป็นแหล่งโปรตีนและแร่ธาตุสำคัญต่าง ๆ เช่น ไอโอดีน รวมถึงโอเมก้า3 ซึ่งเป็นสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ประกอบด้วยกรดไขมัน 2 ชนิด คือ อีพีเอ (EPA) ที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดอุดตัน ช่วยสร้างสารเข้าไปขยายหลอดเลือดช่วยลดการจับตัวของเกร็ดเลือด ลดการสังเคราะห์ไตรกลีเซอไรด์ ดีเอชเอ(DHA) มีความสำคัญต่อการพัฒนาสมองและดวงตา ซึ่งสำคัญต่อสตรีในระยะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนก่อนคลอด และระยะให้นมบุตรช่วยให้สมองทารกพัฒนาอย่างสมบูรณ์แต่หากรับกรดไขมันกลุ่มนี้มากเกินไปจะทำให้สมดุลของกรดไขมันบนผนังเซลล์ต่าง ๆ เป็นปัญหา จึงต้องกินในปริมาณที่เหมาะสม
"ส่วนใหญ่แล้วโอเมก้า3มักจะพบได้ในปลาทะเลน้ำลึก ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาค่อนข้างสูง ได้แก่ ปลาแซลมอน ปลาทูน่าปลาซาร์ดีน ปลาซาบะ ปลาแมคคาเรล แต่นอกจากปลาทะเลน้ำลึกจากต่างประเทศแล้ว ปลาทะเลของไทยก็มีคุณค่าทางโภชนาการและโอเมก้า3 สูงไม่แพ้กันได้แก่ ปลาจะละเม็ดขาว ปลาสำลี ปลากะพงขาว ปลากะพงแดง ปลาอินทรีย์ ปลาทู ปลาจะละเม็ดดำ ปลาเก๋า รวมถึงปลาน้ำจืดของไทยบางชนิดโดยเฉพาะปลาดุก ปลาสวาย ปลาช่อนปลาสลิดปลาตะเพียนปลากราย ปลานิล และปลาไหล เป็นต้น ซึ่งปลาเหล่านี้เป็นปลาที่หาได้ง่าย ราคาไม่แพง และมีขายอยู่ทั่วไป? รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้านแพทย์หญิงนภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวเสริมว่า การกินอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการคือ ต้องกินให้ครบ 5 หมู่ และหลากหลาย ดังนั้น จึงควรเลือกกินทั้งปลาน้ำจืด และปลาทะเล หญิงตั้งครรภ์ควรกินเนื้อปลาวันละ 2 ช้อนกินข้าวทุกวัน หรือกินเนื้อปลาวันละ 4 ช้อนกินข้าววันเว้นวัน กินร่วมเนื้อหมู เนื้อไก่ ตับ ไข่ ปลาเล็กปลาน้อย ถั่วเมล็ดแห้ง เต้าหู้ให้ได้เนื้อสัตว์รวมวันละ 12 ช้อนกินข้าวต่อวันอย่างสม่ำเสมอส่วนคนสูงวัยควรกินปลาสลับกับเนื้อสัตว์ให้ได้วันละ 6-8 ช้อนกินข้าวทั้งนี้ ควรซื้อปลาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ตลาดสดน่าซื้อของกรมอนามัย เลือกซื้อปลาที่มีเนื้อแน่น กดไม่บุ๋ม ไม่มีกลิ่นเหม็นเหงือกมีสีแดงสด ตากลมใส เกล็ดต้องมันเป็นเงา ไม่หลุดออกจากตัวหรือ ใต้ท้องปลาไม่แตกออก เพราะอาจทำให้เชื้อโรคปนเปื้อนในเนื้อปลาได้ง่าย นอกจากนี้ ควรปรุงอาหาร ด้วยวิธีการยำ ต้ม นึ่ง อบ เลี่ยงการปรุงอาหารด้วยวิธีผัด ทอด และลดการปรุงอาหารหวาน มัน เค็ม เพื่อสุขภาพที่ดี
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 16 มีนาคม 2561