คุณกำลังมองหาอะไร?

ข่า

ข่าวแจก"สธ. เตือน ตู้น้ำหยอดเหรียญเถื่อน มีโทษปรับ-จำคุก แนะปชช.สังเกตความสะอาดก่อนกด"

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

01.04.2558
4
0
แชร์
01
เมษายน
2558

ข่าวแจก"สธ. เตือน ตู้น้ำหยอดเหรียญเถื่อน มีโทษปรับ-จำคุก แนะปชช.สังเกตความสะอาดก่อนกด"

 
        กระทรวงสาธารณสุข เตือนร้านค้าตั้งตู้น้ำหยอดเหรียญไม่ได้มาตรฐานและไม่ขออนุญาตจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความผิดตามพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ.2535 หมวด 7 กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แนะประชาชนเลือกใช้ตู้น้ำที่มีความสะอาด ปลอดภัยเพื่อป้องกันโรค
        ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบันตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญมีให้บริการแพร่หลายมากขึ้น เพราะมีความสะดวก และราคาถูก แต่จากการสำรวจตู้น้ำหยอดเหรียญที่มีอยู่ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด รวมกว่า 20,000 ตู้ กลับมีการแจ้งขึ้นทะเบียนเพียงร้อยละ 15 กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มอบหมายให้กรมอนามัย ดำเนินการจัดทำแนวทางการควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปออกเทศบัญญัติหรือข้อกำหนดท้องถิ่น เพื่อควบคุมดูแลด้านสุขลักษณะ การบำรุงรักษา การทำความสะอาด รวมทั้งกำหนดเกณฑ์หรือมาตรฐานการผลิตที่เหมาะสม เพื่อให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญมีความสะอาด ปลอดภัย เป็นการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน โดยผู้ประกอบกิจการที่ไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ.2535 หมวด 7 กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
         รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับอุณหภูมิที่สูงขึ้นในช่วงหน้าร้อน จะส่งผลให้ความต้องการดื่มน้ำเพิ่มมากขึ้นด้วย กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยจึงได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังแหล่งน้ำดื่มในครัวเรือน ซึ่งจากการสำรวจคุณภาพน้ำในปี 2557 พบว่า น้ำที่ผ่านเกณฑ์มากที่สุด ได้แก่ น้ำประปา ร้อยละ 68 รองลงมาคือ น้ำตู้หยอดเหรียญ ร้อยละ 41 น้ำฝน ร้อยละ 29 น้ำดื่มบรรจุขวดขนาด 20 ลิตร ร้อยละ 26 น้ำบ่อบาดาล ร้อยละ 24 และต่ำสุด คือ น้ำบ่อตื้น ร้อยละ 16 โดยสาเหตุที่ไม่ผ่านเกณฑ์ส่วนใหญ่ คือ สี ความขุ่น ความเป็นกรด-ด่าง และแบคทีเรีย กระทรวงสาธารณสุขจึงเร่งจัดทำระบบการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดื่ม โดยให้ครอบคลุมทั้งในพื้นที่เขตเมือง ชนบท และถิ่นทุรกันดาร 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้ดื่มน้ำสะอาด ปลอดภัย
        ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การเลือกใช้บริการจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ต้องให้ความสำคัญต่อคุณภาพมาตรฐานของตู้น้ำดื่ม เพราะหากน้ำดื่มภายในตู้ไม่สะอาดหรือมีเชื้อโรคปนเปื้อน จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจากโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วง รวมถึงโรคระบบทางเดินอาหารด้วย เช่น โรคบิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ไวรัสตับอักเสบเอ ดังนั้น จึงควรสังเกตสภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้งภายในและภายนอกโดยตัวตู้จะต้องสะอาด ไม่สกปรก ทำจากวัสดุที่แข็งแรง ทนทาน ไม่ผุกร่อน หรือเป็นสนิม จุดติดตั้งต้องมีความสะอาดโดยรอบ ตั้งอยู่บนพื้นที่เหมาะสม มีสุขอนามัย ไม่ใกล้ถังขยะหรือสิ่งปฏิกูล ช่องรับน้ำภายในตู้ต้องสะอาด มีฝาปิดมิดชิด ไม่เป็นคราบสกปรก ปราศจากฝุ่นละอองและคราบอื่นใด หัวจ่ายน้ำต้องเป็นวัสดุที่เหมาะสม เช่น สแตนเลสไม่ควรเป็นท่อพลาสติกหรือสายยาง และที่สำคัญต้องสะอาดไม่เป็นตะไคร่หรือมีสิ่งสกปรกบริเวณหัวจ่ายน้ำ ไม่มีกลิ่นทุกชนิดปนมากับน้ำหรือมีกลิ่นโชยขณะกดน้ำ หรือจากช่องจ่ายน้ำ รวมทั้งมีสติ๊กเกอร์การตรวจรับรองที่มีมาตรฐานที่น่าเชื่อถือ และต้องระบุชื่อผู้ตรวจ ชื่อบริษัท วันเวลาที่มาตรวจด้วย
         "ทั้งนี้ การนำขวดพลาสติกหรือภาชนะอื่น ๆ มารองน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ก็ควรทำความสะอาดภาชนะเหล่านั้นเป็นประจำ ก่อนการนำมาใช้ซ้ำทุกครั้งต้องล้างขวดให้สะอาด โดยใช้น้ำเขย่าให้ทั่วภาชนะแล้วเททิ้ง ทำเช่นนี้ประมาณ 1-2 ครั้ง แต่ถ้ามีเวลามากพอก็ควรจะล้างภาชนะดังกล่าวด้วยน้ำยาล้างจาน โดยใช้แปรงขนอ่อนขัดล้าง ไม่ควรใช้แปรงขนแข็งเพราะจะทำให้เกิดรอยขีดข่วนและเป็นแหล่งสะสมเชื้อจุลินทรีย์ จากนั้นจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด ผึ่งให้แห้ง จึงนำไปเติมน้ำจากตู้น้ำต่อไปได้? อธิบดีกรมอนามัยกล่าวในที่สุด
***
 สำนักสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง กรมอนามัย/ 25 มีนาคม 2558

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน

ติดตามข่าวสารได้ที่

แทงบอลออนไลน์ || ดูบอลสด UFABET