คุณกำลังมองหาอะไร?

ข่า

ข่าวแจก"กรมอนามัย เตือน เผากระดาษเงินกระดาษทองเสี่ยงรับสารตะกั่ว สะสมนานทำไตพัง"

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

17.02.2558
137
0
แชร์
17
กุมภาพันธ์
2558

ข่าวแจก"กรมอนามัย เตือน เผากระดาษเงินกระดาษทองเสี่ยงรับสารตะกั่ว สะสมนานทำไตพัง"

 
        กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระวังสูดควันจากการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เสี่ยงรับสารพิษจากตะกั่ว สะสมนานอันตรายถึงขั้นไตวาย แนะใช้หน้ากากอนามัยป้องกัน พร้อมเตรียมการรับมือหากเกิดไฟไหม้
        ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลต่างๆ ของชาวไทยเชื้อสายจีน จะมีการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง เนื่องจากมีความเชื่อว่าจะช่วยให้ผู้เผากระดาษเงิน กระดาษทอง อยู่เย็นเป็นสุข มีเงินทองโชคลาภ และยังเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ แต่การเผากระดาษเงิน กระดาษทองจำนวนมาก จะทำให้เกิดไอระเหยของสารตะกั่วที่อยู่ในสีเคลือบกระดาษฟุ้งกระจายสู่บรรยากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้เผาและผู้ที่อยู่ใกล้เคียง เมื่อสูดหายใจเข้าไปจะทำให้ระดับตะกั่วในเลือดสูงขึ้น และหากสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน จะเกิดโรคโลหิตจาง เวียนศีรษะ ชักกระตุก หมดสติ ไตทำงานผิดปกติถึงขั้นไตวายได้ โดยเฉพาะประชาชนที่มีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่ เด็ก หากตะกั่วสะสมในร่างกายมากๆ จะส่งผลกระทบต่อสมอง ทำให้พัฒนาการด้านต่างๆ ช้า ไอคิวต่ำกว่าเด็กปกติ สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสควันจากการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า กระดาษเงิน กระดาษทอง ทำมาจากไม้หรือเศษไม้ไผ่ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ชนิดที่ฉาบด้วยตะกั่ว ชนิดทาสีคล้ายตะกั่ว และชนิดพิมพ์ระบบออฟเซ็ท โดยชนิดที่ฉาบด้วยตะกั่วจะได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่งข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์บริการพบว่า กระดาษเงิน กระดาษทองชนิดที่ฉาบด้วยตะกั่วมีปริมาณตะกั่วค่อนข้างสูงประมาณ 20.8-85.6 มิลลิกรัมต่อแผ่น ส่วนชนิดทาสีมีปริมาณตะกั่ว 0.55 มิลลิกรัมต่อแผ่น ผู้ที่ต้องเผากระดาษเงิน กระดาษทอง จึงต้องระมัดระวังในเรื่องของสารตะกั่วที่มีอยู่ในกระดาษ โดยล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังพับหรือสัมผัสกระดาษ ควรเผาในภาชนะที่มิดชิด ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกในขณะเผา ควรเผาในที่โล่งแจ้งและยืนอยู่เหนือลม เพื่อป้องกันการหายใจเอาสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย การฟุ้งกระจายของเถ้าและควัน หรือสร้างความเดือดร้อนให้ผู้ที่ผู้อาศัยใกล้เคียง ซึ่งอาจก่อให้เกิด กลิ่นเหม็นและสำลักควัน หายใจไม่ออก ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการพักผ่อนนอนหลับในห้องหรือบริเวณที่มีการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง และควรนำเถ้ากระดาษที่เผาแล้วทิ้งหรือฝังกลบให้เหมาะสมเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของสารตะกั่วสู่สิ่งแวดล้อม
         "สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักและระมัดระวังให้มากคืออุบัติเหตุที่เกิดจากไฟไหม้ ควรเตรียมถังน้ำหรือถังดับเพลิงไว้ในบริเวณใกล้เคียง เฝ้าดูระหว่างการเผาและรอให้ไฟดับสนิทก่อนทุกครั้ง เพราะหากเกิดการลุกลามทำให้ไฟไหม้ จะนำมาซึ่งความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินได้? อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
 
***
สำนักสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง / 17 กุมภาพันธ์ 2558
 

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน

ติดตามข่าวสารได้ที่

แทงบอลออนไลน์ || ดูบอลสด UFABET