คุณกำลังมองหาอะไร?

รมอนามัย มอบรางวัล 199 องค์กรดีเด่น ด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

24.12.2551
17
0
แชร์
24
ธันวาคม
2551

กรมอนามัย มอบรางวัล 199 องค์กรดีเด่น ด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มอบโล่ และประกาศเกียรติคุณ 199 องค์กรดีเด่น ที่ผ่านการประเมินรับรองมาตรฐานงานกรมอนามัยด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม

                นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์  อังคะสุวพลา  อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีประกาศเกียรติคุณองค์กรดีเด่น ณ โรงแรมมารวยการ์เด้น  กรุงเทพมหานคร  ว่า  จากการพัฒนาและการขยายตัวของชุมชนเมืองอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมายทั้งความแออัดคับคั่ง วิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อความป็นอยู่และสุขภาพของประชาชน โดยกรมอนามัยเป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทยที่รับแนวคิดเมืองน่าอยู่ขององค์การอนามัยโลกมาใช้ในการพัฒนาเขตเมือง และปัจจุบันได้ขยายฐานแนวคิด โดยบูรณาการภารกิจของภาคีพันธมิตรทุกภาคส่วนของสังคมในการมีส่วนร่วมสร้างสุขภาวะของประชาชนในปี 2551 เพื่อให้ทุกพื้นที่ของประเทศไทยมีการพัฒนาสู่เมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ โดยกำหนดเกณฑ์การพัฒนาสู่เมืองน่าอยู่ 2 ด้าน คือ ด้านกระบวนการมี 5 องค์ประกอบ คือ 1.) องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีนโยบายและแผนการดำเนินงานเมืองน่าอยู่   2).บุคลากรได้รับการพัฒนาศักยภาพ  3). การดำเนินงานมีภาคีเครือข่าย หรือผู้นำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม 4.) มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และมีการศึกษาดูงาน และ 5). มีการพัฒนาฐานข้อมูล  ส่วนด้านผลสัมฤทธิ์ มีองค์ประกอบ ได้แก่ ความปลอดภัยด้านอาหารและน้ำ การจัดการของเสียชุมชน และการคุ้มครองสุขภาพด้วยมาตรฐานตามกฏหมายสาธารณสุข

                นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ผลการดำเนินงานเพื่อบรรลุมาตรฐานด้านต่าง ๆ ของกรมอนามัยในพื้นที่ความรับผิดชอบของศูนย์อนามัยที่ 1  ที่ผ่านมา พบว่า 1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเทศบาลจำนวน 74 แห่ง        ผ่านเกณฑ์ประเมินเป็นเทศบาลน่าอยู่ด้านสุขภาพทั้งด้านกระบวนการและผลสัมฤทธิ์ รวม 67 แห่ง  คิดเป็นร้อยละ 90.54   2) มีเทศบาลต้นแบบ จำนวน 7 แห่ง   3) องค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 256 แห่ง  ผ่านการประเมินเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลน่าอยู่ด้านสุขภาพ ทั้งด้านกระบวนการและผลสัมฤทธิ์ จำนวน 20 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 7.81  4) ร้านอาหารและแผงลอยจำหน่ายอาหาร จำนวน 13,250 ร้าน ได้มาตรฐาน Clean Food Good Taste จำนวน 11,365 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 85.77  5) ตลาดสดประเภทที่ 1 จำนวนรวม 60 แห่ง ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตลาดสด น่าซื้อ ระดับ 5 ดาว จำนวน 13 แห่ง  และ 3 ดาว จำนวน 36 แห่ง  6) เทศบาลธัญบุรีมีการพัฒนาร้านเสริมสวยในพื้นที่จำนวน  131 ร้าน  ได้มาตรฐาน 112 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 85.49  7) ศูนย์เด็กเล็กจำนวน      721 แห่ง  ผ่านเกณฑ์การประเมินศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่ จำนวน 704 แห่ง  คิดเป็นร้อยละ 97.64 ผ่านเกณฑ์ระดับดีมากและระดับดีจำนวน 528 แห่ง  คิดเป็นร้อยละ 73.33  8). มีเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลที่ผ่านการประเมินเป็นประปาดื่มได้  จำนวน 23 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 8.16   9)  ส้วมสาธารณะ จำนวน 3,419 แห่ง ผ่านเกณฑ์มาตรฐานส้วม (HAS) จำนวน  2,283 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 66.77  และ 10) ส้วมต้นแบบ จำนวน 5 แห่ง

นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์  กล่าวต่อไปอีกว่า  ผลจากการพัฒนาเมืองน่าอยู่ด้านสุขภาพที่มีความครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพและการอนามัยสิ่งแวดล้อม  จะนำไปสู่การมีสุขภาวะของประชาชน เพราะการขับเคลื่อนการดำเนินงานเมืองน่าอยู่โดยการมีส่วนร่วมของผู้นำท้องถิ่นและผู้บริหารในส่วนต่าง ๆ  เช่น  ตลาดสด ร้านอาหาร  ศูนย์เด็กเล็ก ร้านเสริมสวย ประปา  ส้วม 13 ประเภท และกิจกรรมอื่น ๆ นั้น  ล้วนก่อให้เกิดการเป็นเมืองน่าอยู่ ซึ่งเป็นผลจากการร่วมแรงร่วมใจของภาคีพันธมิตร ได้แก่ เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้บริหารตลาดสด ร้านอาหาร โรงอาหาร ศูนย์เด็กเล็ก ร้านเสริมสวย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาส้วมสาธารณะ

?ทั้งนี้  สำหรับการมอบโล่และประกาศเกียรติคุณในครั้งนี้  มีองค์กรเข้ารับมอบทั้งสิ้น 199 แห่ง ประกอบด้วย รางวัลเมืองน่าอยู่ จำนวน 95 แห่ง   อาหารสะอาด รสชาติอร่อย จำนวน 13  แห่ง  ตลาดสด น่าซื้อ จำนวน 32 แห่ง  ศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่  จำนวน 34 แห่ง  ร้านเสริมสวย จำนวน 3 แห่ง  น้ำประปาดื่มได้ 1 แห่ง  และส้วมสาธารณะ จำนวน 29 แห่ง?  อธิบดีกรมอนามัย  กล่าวในที่สุด

***

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรมอนามัย /  22 ธันวาคม 2552

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน