กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะล้างผักให้สะอาดก่อนกินหรือปรุงอาหาร ปลอดภัยจากอันตรายจากยาฆ่าแมลงตกค้าง พร้อมส่งเสริมให้คนไทยกินผักมากขึ้นอย่างน้อย วันละ 400 กรัม
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การกินผักเป็นประจำส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือปัญหาการตกค้างของสารเคมีหรือสะสมจากยาฆ่าแมลงซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายเมื่อได้รับสารนี้ในปริมาณมากจะทำให้เวียนศีรษะ หน้ามืด ท้องร่วง อาจเกิดหัวใจวายและตาย แต่ถ้าได้รับในปริมาณน้อยๆ ค่อยๆ สะสมในร่างกายจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็ง ข้อมูลจากการตรวจการตกค้างของสารเคมีอยู่ในพืชผักที่จำหน่ายในท้องตลาดพบว่ามีผักสด 10 ชนิด ที่มีการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณสูงได้แก่ กวางตุ้ง คะน้า ถั่วฝักยาว พริก แตงกวา กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี ผักบุ้งจีน มะเขือ และผักชี อีกทั้งยังมีการตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้ออีโคไลและเชื้อซาลโมเนลลา ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษในผักที่นิยมรับประทานเป็นผักแบบสดๆ เช่น ผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี กะหล่ำปลี ผักชีฝรั่ง โหระพา สะระแหน่ ใบบัวบก ถั่วพู แตงกวา ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการใช้ปุ๋ยจากมูลสัตว์ในการเพาะปลูก โดยเชื้อเหล่านี้จะอาศัยอยู่ในลำไส้ของสัตว์และถูกขับถ่ายออกมากับมูลของสัตว์ เมื่อนำปุ๋ยจากมูลสัตว์มาใช้ในการเกษตรเชื้อโรคนี้ก็อาจปนเปื้อนในผลผลิตได้
นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า ผู้บริโภคควรคำนึงถึงความปลอดภัยในการกินผัก ก่อนกินหรือนำผักมาปรุงอาหาร ต้องล้างให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างหรือการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค ให้ล้างผ่านน้ำก๊อกที่ไหลนาน 2 นาที หรือแช่ในน้ำผสมเกลืออัตราส่วน 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร หรือน้ำผสมน้ำส้มสายชูอัตราส่วนครึ่งถ้วยตวงต่อน้ำ 4 ลิตร หรือน้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) อัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 10-15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำเปล่า 2 ครั้ง สำหรับผักบางชนิด เช่น คะน้า กะหล่ำ ถั่วฝักยาว หากมีคราบขาวจับที่กาบใบหรือฝักมากเกินไปล้างน้ำหลายๆครั้ง และคลี่ใบถูหรือล้างด้วยการเปิดน้ำไหลผ่านอย่างน้อย 2 นาที
"ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกแนะนำให้กินผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัมเพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เช่น หัวใจขาดเลือด เส้นเลือดในสมองตีบ และมะเร็งบางชนิด เนื่องจากคนไทยกินผักน้อยลง โดยเฉพาะเด็กไทยร้อยละ 58.9 ไม่ได้กินผักทุกวัน กินผักเพียงช้อนครึ่งต่อวัน ทั้งๆที่ควรกินผักให้ได้วันละ 1 ช้อนกินข้าว ส่วนผู้ใหญ่พบว่า กินผักน้อยมากเช่นกัน ซึ่งพบว่ากินผักเพียงวันละ 2 ช้อนครึ่งเท่านั้น ในขณะที่กรมอนามัยแนะนำให้ผู้ใหญ่กินผักถึง 18 ช้อนต่อวัน หรือ 6 ทัพพี โดยให้กินผักที่หลากหลาย เพราะผักมีใยอาหารหรือเส้นใย ช่วยทำความสะอาดลำไส้และช่วยลดการดูดซึมไขมัน คอเลสเตอรอลในเลือด มีวิตามินและแร่ธาตุ ช่วยปรับสมดุลเอนไซม์และฮอร์โมนในร่างกายให้ทำงานมีประสิทธิภาพ" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 21 เมษายน 2560