กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มอบศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี ศูนย์อนามัยที่ 11 นครศรีธรรมราช และศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมให้การสนับสนุนอุปกรณ์และสิ่งของที่จำเป็นเบื้องต้นสำหรับใช้ลดปัญหาขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาด พร้อมแนะให้คุมเข้มจุดอพยพหรือ ศูนย์พักพิงเพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดที่อาจเกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อตามมา
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคใต้ ว่า กรมอนามัยได้มอบหมายให้ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี ศูนย์อนามัยที่ 11 นครศรีธรรมราช และศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมทางภาคใต้อย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งสนับสนุนสิ่งของและอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำและการจัดการขยะให้กับพื้นที่ในความรับผิดชอบของศูนย์อนามัย ทั้ง 3 แห่ง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของโรคที่จะตามมา โดยจัดส่งคลอรีนชนิดน้ำ (หยดทิพย์) 2,800 ขวด คลอรีนเม็ด 400 กระป๋อง คลอรีนผง 200 กระป๋อง สารส้มขนาด 30 กิโลกรัม รวมกว่า 200 กิโลกรัม ถุงดำ ขนาดใหญ่ 100 กิโลกรัม หน้ากากอนามัย 300 กล่อง และรองเท้าบู๊ท 40 คู่
นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า น้ำดื่ม น้ำใช้ ถือเป็นที่สิ่งจำเป็นในช่วงน้ำท่วม เพื่อความปลอดภัยก่อนที่ประชาชนจะนำน้ำที่ท่วมขังมาอุปโภคบริโภคนั้น ควรตักใส่ภาชนะ ถ้าน้ำขุ่นให้ใช้สารส้มชนิดก้อน กวนในน้ำ สังเกตตะกอนในน้ำเริ่มจับตัวนำสารส้มออก ใช้มือกวนน้ำต่อ 1-2 นาที ทิ้งไว้จนตกตะกอนที่ได้มาใส่คลอรีน เพื่อฆ่าเชื้อโรค ใส่คลอรีนชนิดผง ? ช้อนชาในน้ำ 1 แก้ว คนให้เข้ากันรินเฉพาะส่วนที่ใสผสมในอัตราส่วนต่อน้ำ 10 ลิตร ทิ้งไว้ 30 นาที เพื่อให้คลอรีนฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในน้ำและส่วนที่หลงเหลืออยู่สลายตัวไป ในกรณีที่จะนำน้ำมาดื่มต้องต้มให้เดือดก่อน หรือหากต้องการฆ่าเชื้อโรคในภาชนะอุปกรณ์ประกอบอาหาร เช่น จาน ชาม หม้อ กระทะให้ใช้คลอรีน 1 ช้อนชา (ผสมกับน้ำ 1 แก้ว รินเฉพาะส่วนที่ใส) ต่อน้ำ 1 ลิตร แช่นาน 2 นาที ก่อนที่จะนำภาชนะเหล่านั้นมาใช้อย่างปลอดภัยเพื่อความสะดวกกรมอนามัยได้ผลิตคลอรีนชนิดน้ำ 2 เปอร์เซ็นต์ (หยดทิพย์) ใช้หยดลงในน้ำ สำหรับดื่ม 1 หยดต่อน้ำ 1 ลิตรทิ้งไว้ 30 นาที
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่อว่า กรมอนามัยยังได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเองทั้งในช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำลด พร้อมทั้งให้มีการเฝ้าระวังคือบริเวณจุดอพยพหรือศูนย์พักพิง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้มหาวิทยาลัย โรงเรียน วัด หรือเต็นท์ชั่วคราวเป็นจุดอพยพ โดยผู้ปฏิบัติงานในบริเวณดังกล่าวต้องเข้าใจวิธีการจัดการสุขาภิบาลที่ดีเพื่อป้องกันโรคระบาด ดังนี้ 1) ที่นอนหรือที่พัก ควรมีลักษณะพื้นเรียบ การระบายอากาศที่ดี มีแสงสว่างเพียงพอ และกางมุ้งเพื่อป้องกันยุง หากเป็นเต็นท์ควรปรับพื้นให้เรียบ ปูด้วยผ้ายางหรือพลาสติก กำจัดมดและแมลงโดยการโรยปูนขาวรอบ ๆ บริเวณเต็นท์ 2) การทิ้งขยะ ต้องมีถังขยะใส่เศษอาหารทำด้วยวัสดุไม่รั่วซึม เช่น พลาสติก หากใช้ปิ๊ปควรมีถุงพลาสติกรองอีกชั้นหนึ่ง ถังขยะต้องมีฝาปิด และมีการแยกขยะเป็นสองถังคือถังขยะเปียกและถังขยะแห้งเพื่อง่ายต่อการกำจัด โดยรวบรวมขยะมูลฝอยใส่ในถุงดำและมัดปากถุงให้แน่นแล้วนำไปทิ้งในจุดที่กำหนดไว้
"3) สถานที่ปรุงอาหารหรือครัวควรระบายอากาศได้ดี แยกห่างจากที่นอนหรือที่พัก เพื่อป้องกันกลิ่น แมลงและสัตว์ซึ่งเป็นพาหะนำโรค มีโต๊ะหรือชั้นสำหรับเตรียมปรุงอาหาร ไม่วางไว้กับพื้น อาหารต้องมีฝาปิดให้มิดชิด เพื่อลดความเสี่ยงปัญหาโรคระบาดที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อ เช่น อุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์ เป็นต้น 4) สถานที่รับประทานอาหาร ควรอยู่ใกล้ กับที่ปรุงอาหาร เพื่อความสะดวก สะอาด และถูกสุขลักษณะ 5) ห้องส้วม ห้องอาบน้ำ และห้องซักล้าง ควรอยู่ใกล้จุดจ่ายน้ำ สำหรับห้องส้วมต้องมีผนังกั้นมิดชิด สามารถทำเป็นที่อาบน้ำแบบรวม แต่ควรแยกชาย?หญิง ต้องมีส้วมสำหรับขับถ่ายและมีระบบเก็บกักอุจจาระ ห้ามทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ? อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 13 มกราคม 2560