กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนจัดงานเลี้ยงฉลองเทศกาลปีใหม่ กินอาหารไม่สะอาด เสี่ยงต่อการเกิดโรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ แนะก่อนกินควรอุ่นให้ร้อน โดยยึดหลัก "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ? พร้อมใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่สะอาด ปกปิดมิดชิด
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่าช่วงเทศกาลปีใหม่ประชาชนส่วนใหญ่จะนิยมจัดงานเลี้ยงฉลองตามสถานที่ต่างๆ สิ่งที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ คือความสะอาดปลอดภัยของอาหารที่จะบริโภค เพราะงานเลี้ยงส่วนใหญ่มีการจัดเตรียมอาหารล่วงหน้า ทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคที่เป็นอันตรายที่ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ จึงต้องระมัดระวังในการบริโภคอาหารเป็นพิเศษ หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่บูดเสียง่าย ประเภทยำ ลาบ อาหารประเภทนี้ มักจะปรุงประกอบ แบบสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะอาหารทะเล ยำ ลาบเนื้อ ลาบไก่ ที่มักจะรวนเนื้อสัตว์พอสุกเท่านั้น แล้วใส่เครื่องปรุง และเน้นรสชาติที่เผ็ดจัด หรือเปรี้ยวจัด จึงควรเลือกกินอาหารที่ผ่านความร้อน อย่างทั่วถึงแทนจะดีกว่า ลักษณะเนื้อสัตว์ต้องสุก รสชาติไม่เผ็ดจัด หรือเปรี้ยวจัดจนเกินไป ที่สำคัญคือควรมีภาชนะบรรจุที่สะอาด มีการปกปิดมิดชิด ผู้ขายหรือผู้ปรุงไม่ใช้มือหยิบจับอาหาร สวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม และไม่ควรบริโภคอาหารที่ทิ้งไว้ ข้ามวัน
นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อว่า สำหรับอาหารประเภทขนมจีนและแกงใส่กะทิ ควรอุ่นให้ร้อนเป็นระยะ คือประมาณ 2-4 ชั่วโมง ขนมจีนควรซื้อที่จำหน่ายใหม่ๆ จากแหล่งที่เชื่อถือได้และจะต้องมีการนึ่งเส้นขนมจีนใหม่ก่อนจะนำมาบริโภค และใช้ถุงมือหรือภาชนะอุปกรณ์ในการหยิบจับ ส่วน เนื้อสัตว์ประเภทปิ้ง ย่าง มักจะปรุงแบบสุกๆดิบๆ จึงควรปรุงให้สุกหรือใช้การทอดแทนจะดีกว่า อาหารทะเล มักจะมีการปรุงประกอบและบริโภคแบบสุกๆ ดิบๆ เช่น หอยนางรมดิบ กุ้งเผา ปลาหมึกเผา อาหารสดหรือวัตถุดิบจึงควรมีการล้างให้สะอาดหรือฆ่าเชื้อโรคด้วย น้ำประปาหรือหากเป็นน้ำจากแหล่งอื่น ควรเตรียมน้ำผสมคลอรีนโดยนำผงปูนคลอรีนละลายน้ำในอัตราส่วนตามคำแนะนำ ในฉลากอาหารประเภทข้าวผัด โดยเฉพาะ ข้าวผัดปู มีโอกาสเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรค ได้ง่าย ควรเลือกข้าวผัดที่ปรุงสุกใหม่ หรือมีการอุ่นร้อนตลอดเวลา หากจะจัดเตรียมอาหารเพื่อการเดนทางควรเป็นอาหารแห้งหรือมีน้ำน้อยและไม่ปรุงด้วยกะทิ ควรแยกระหว่างข้าว กับข้าวไม่ปะปนกัน และสุดท้าย คืออาหารประเภทผักสดและผลไม้ ควรล้างให้สะอาดก่อนนำมาปรุงหรือบริโภค โดยการลอกเปลือกหรือแกะกลีบชั้นนอกออก ล้างด้วยน้ำไหลผ่าน แล้วแช่ด้วยน้ำส้มสายชูหรือเกลือป่น รวมทั้งระมัดระวังการหยิบจับผักผลไม้สด ไม่ให้มีการปนเปื้อน ควรใช้ภาชนะหยิบจับ ไม่ควรใช้มือหยิบจับ
"ทั้งนี้ การบริโภคที่เหมาะสมร่วมกับคนหมู่มาก คือ กินอาหารที่สุกร้อน ให้ใช้ช้อนกลางทุกครั้ง และ ก่อนบริโภคอาหารต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่ เลือกกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดปริมาณอาหารรสหวานจัด กินผลไม้แทนขนมหวาน ลดอาหารรสเค็ม หลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด อาหารที่มีไขมันสูง และอาหารสุกๆ ดิบๆ ดื่มน้ำเปล่า แทนการดื่มน้ำหวาน ควรจำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อควบคุมพลังงานและสติในการเลือกกินด้วย? รองอธิบดี กรมอนามัย กล่าวในที่สุด
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 31 ธันวาคม 2559