คุณกำลังมองหาอะไร?

ข่า

ข่าวแจก"กรมอนามัย ย้ำ ขับรถทางไกลเลี่ยงอาหารประเภทแป้ง เน้นผลไม้วิตามินซีสูง พร้อมแนะท่าคลายเมื่อยระหว่างทาง"

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

30.12.2559
10
0
แชร์
30
ธันวาคม
2559

ข่าวแจก"กรมอนามัย ย้ำ ขับรถทางไกลเลี่ยงอาหารประเภทแป้ง เน้นผลไม้วิตามินซีสูง พร้อมแนะท่าคลายเมื่อยระหว่างทาง"

 
        กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ย้ำ คนขับรถระยะไกลเลี่ยงอาหารประเภทแป้ง ขนมปัง ของหวาน เน้นกินผลไม้ให้วิตามินซีสูงต้านความเหนื่อยล้า พร้อมแนะท่านั่ง ท่าบริหารร่างกายคลายเมื่อยระหว่างเดินทาง
        นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ประชาชนนิยมเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือไปเที่ยวต่างจังหวัด ซึ่งระหว่างการเดินทางผู้ขับรถควรเลี่ยงกินอาหารประเภทแป้ง ขนมปังขาว ข้าวขาว และข้าวเหนียว เพราะการกินคาร์โบไฮเดรตในอาหารมื้อใหญ่ในปริมาณมาก จะทำให้กระเพาะอาหารย่อยอาหารในปริมาณมาก เป็นเหตุให้เลือดไหลหมุนเวียนไปส่วนอื่นๆ ของร่างกายน้อยลง พลังงานโดยรวมลดลง โดยเฉพาะสมอง ทำให้รู้สึกง่วงซึม เฉี่อยชา นอกจากนี้ การกินคาร์โบไฮเดรตประเภทของหวานและน้ำตาลสูง เช่น เครื่องดื่มรสหวาน น้ำอัดลม เค้ก คุกกี้ แต่กินผักผลไม้และธัญพืชน้อย จะทำให้เกิดความไม่สมดุลของระดับน้ำตาลในเลือด มีความรู้สึกอ่อนเพลีย กระวนกระวาย ฉุนเฉียว หงุดหงิด ควรหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ย่อยยาก กะหล่ำปลีดิบ ดอกกะหล่ำ ถั่ว บรอคโคลี หอมใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง มันฝรั่ง นม ถั่วเปลือกแข็ง โดยเฉพาะถั่วผสมเกลือ เครื่องดื่มที่มีฟอง เช่น โซดา มีผลทำให้ท้องอืดเฟ้อและง่วงนอน งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ควรกินอาหารที่รักษาระดับน้ำตาลในเลือดได้สม่ำเสมอ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังธัญพืช (โฮลวีต) ธัญพืชและโปรตีน ในปริมาณที่เหมาะสม พออิ่ม เลือกผลไม้ที่มีวิตามินซี เช่น ส้ม ฝรั่ง เพราะวิตามินซีจะช่วยต้านความเหนื่อยล้าที่มาจากความเครียดและกังวลขณะขับรถ แต่การกินฝรั่งต้องระวังในเรื่องท้องอืด หรือจะเลือกกินแอปเปิ้ล กล้วย สับปะรด ส้ม ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดและเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย บรรเทาความง่วงได้อย่างดี
        นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า ก่อนขับรถทางไกลทุกครั้ง ผู้ขับควรพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง เตรียมผ้าเย็นเวลาง่วงและสวมแว่นตากันแดดขณะขับรถ ที่สำคัญควรตรวจสภาพของรถยนต์ให้พร้อมใช้งาน ปรับการนั่งขับรถให้ถูกต้อง โดยเลื่อนเบาะที่นั่งให้อยู่ในระดับเหมาะสมกับตนเอง หลังพิงพนักพอดี ไม่นั่งห่างหรือชิดพวงมาลัยมากเกินไปเพราะจะทำให้หลังโค้ง พิงพนักไม่ได้ หรือพิงได้แต่เวลาขับต้องเหยียดแขนและเข่ามากขึ้น เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปวดหลัง ซึ่งหากปวดหลังเป็นเวลานานและไม่มีการดูแลอย่างถูกวิธี อาจทำให้เสี่ยงปวดหลังถาวรได้
         ทางด้าน นายแพทย์กิตติ ลาภสมบัติศิริ ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า ผู้ขับรถทางไกลสามารถคลายเมื่อยได้ด้วยการบริหารร่างกาย 6 ท่าง่ายๆ เริ่มจากท่าที่ 1 ยืดเหยียดกล้ามเนื้อปลายแขนด้านหน้า หงายฝ่ามือซ้าย ยกแขนเหยียดตึงระดับไหล่ ใช้มือขวาจับที่ฝ่ามือซ้ายแล้วดึงเข้าหาตัวเอง รู้สึกตึงให้ค้างไว้ 10-30 วินาที จากนั้นทำอีกข้างหนึ่ง ท่าที่ 2 ยืดเหยียดกล้ามเนื้อปลายแขนด้านหลัง คว่ำฝ่ามือซ้าย ยกแขนตึงระดับไหล่ ใช้มือขวาจับที่หลังมือซ้ายแล้วดึงเข้าหาตัวเอง รู้สึกตึงให้ค้างไว้ 10-30 วินาที จากนั้นทำอีกข้างหนึ่ง ท่าที่ 3 ยืดเหยียดกล้ามเนื้อคอ บ่าและไหล่ มือซ้ายจับไหล่ขวา ยกศอกขนานกับพื้น ใช้มือขวาจับศอกซ้ายเข้าหาตัวเองแล้วบิดคอมาทางด้านซ้าย ค้างไว้ 10-30 วินาที จากนั้นทำอีกข้างหนึ่ง ท่าที่ 4 บริหารหัวไหล่ ยกไหล่หมุนไปข้างหน้า 5-10 ครั้ง แล้วหมุนไหล่กลับไปด้านหลัง 5-10 ครั้ง ท่าที่ 5 ยืดเหยียดกล้ามเนื้อหลังและลำตัว นั่งหลังตรง มือขวาและซ้ายเอื้อมไปจับพนักพิงด้านซ้าย จากนั้นบิดตัวไปทางด้านซ้ายโดยใช้มือช่วยในการบิด ค้างไว้ 10-30 วินาที จากนั้นทำอีกข้างหนึ่ง และท่าที่ 6 บริหารเท้า นั่งเหยียดขาออกไปด้านหน้า ยกเท้าให้ลอยขึ้นพ้นพื้น จากนั้นกระดกปลายเท้าขึ้น-ลง ทำ 5 ครั้ง แล้วสลับข้าง ซ้าย-ขวา จะช่วยคลายเมื่อยได้
         "การบริหารใบหน้าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คลายง่วง มีวิธีการง่ายๆ เริ่มจากท่าที่ 1 เอียงศีรษะไปทางขวา ค้างไว้ 10 วินาที จากนั้นย้ายมาข้างซ้าย ทำสลับไปมา ท่าที่ 2 เอียงหน้าไปทางขวาค้างไว้ 5 วินาที กลอกตาขึ้นลง 5 วินาที หันไปทางด้านซ้ายทำเหมือนเดิม ทำซ้ำ 2-10 ครั้ง ท่าที่ 3 แลบลิ้นออกมาให้ยาวที่สุดค้างไว้ 60 วินาที ท่าที่ 4 ยกคิ้วขึ้นเปิดตาให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ ห่อปาก ทำซ้ำ 5 ครั้ง ท่าที่ 5 เปิดตาให้กว้างที่สุดโดยไม่ต้องยกคิ้วขึ้น ทำซ้ำ 5 ครั้ง ท่าที่ 6 เงยหน้ามองที่เพดาน ค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 5 ครั้ง ท่าที่ 7 หายใจเข้าลึก ๆ ขณะหายใจออกให้ห่อปากพ่นลมหายใจออกมาพร้อมกัน ทำท่านี้ 30 วินาที ถึง 1 นาที และท่าที่ 8 ให้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางติดกัน วางไว้บนโหนกแก้มขวา กดลงเล็กน้อย จากนั้นให้ยิ้มกว้างเพื่อยกโหนกแก้มให้สูงขึ้น ค้างไว้ 5 วินาที จากนั้นสลับมาด้านซ้าย ทำซ้ำเหมือนเดิม สลับไปมา ข้างละ 3 ครั้ง จะช่วยผ่อนคลายและแก้ง่วง? ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าว
 
*** 
 
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 30 ธันวาคม 2559

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน

ติดตามข่าวสารได้ที่

แทงบอลออนไลน์ || ดูบอลสด UFABET