กระทรวงสาธารณสุข น้อมนำพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เดินหน้าขจัดโรคขาดสารไอโอดีนตั้งเป้าประเทศไทยสามารถควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนได้อย่างยั่งยืนในปี 2564
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสนพระทัยและทรงให้ความสำคัญกับการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนเช่น โครงการนำร่องที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบโรคขาดสารไอโอดีนเป็นจำนวนมาก ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดเชียงใหม่ ทรงมีพระราชดำรัสกับผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้ใช้เกลือเสริมไอโอดีนเป็นมาตรการหลักเพื่อป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนพระองค์ทรงสนพระทัยการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับผู้ผลิตเกลือเสริมไอโอดีนรายย่อย โดยให้วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่พัฒนาเครื่องผสมเกลือสำหรับผู้ผลิตรายย่อยโดยใช้รูปแบบของเครื่องผสมปูน และเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทอดพระเนตรการทำงานของเครื่องผสมเกลือไอโอดีนที่วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2536 ซึ่งผู้ผลิตเกลือเสริมไอโอดีนรายย่อยหลายรายนำไปใช้ และส่งออกไปใช้ในประเทศลาวด้วย ส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถสนับสนุนผู้ผลิตเกลือเสริมไอโอดีนรายย่อยให้ผลิตเกลือเสริมไอโอดีนได้เพียงพอที่จะกระจายทั่วประเทศ
เนื่องด้วยพระมหากรุณาธิคุณในการพระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดสารไอโอดีนพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวของโลกที่สภานานาชาติเพื่อการควบคุมการขาดสารไอโอดีน (International Council for Control of Iodine Deficiency Disorders, ICCIDD) ได้ทูลเกล้าถวายรางวัลเหรียญทอง ICCIDD เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2540คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้วันที่ 25 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันไอโอดีนแห่งชาติ ทั้งนี้ พระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเป็นองค์ประธานคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ และทรงสนับสนุนให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ดำเนินงานโครงการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนอีกหลายโครงการต่อมา
ทางด้าน นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าในปี 2496 ประเทศไทยพบการขาดสารไอโอดีนที่แสดงโดยอาการคอพอกในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากการศึกษาและสำรวจอีกหลายครั้งจากองค์การอนามัยโลกและอาจารย์แพทย์ที่มีชื่อเสียง พบคอพอกสูงถึงร้อยละ 58 ต่อมาในปี 2508 กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งโรงงานผลิตเกลือเสริมไอโอดีนเพื่อใช้ในการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนขึ้นที่จังหวัดแพร่ภายใต้ความช่วยเหลือจากองค์การอนามัยโลก องค์การยูนิเซฟ และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ส่งผลให้คอพอกลดลงเป็นอย่างมากจนทำให้คิดว่าโรคขาดสารไอโอดีนหมดไปจากประเทศไทยแล้ว แต่ในปี 2530 กลับพบคอพอกในเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาเป็นจำนวนมากอีกครั้ง จึงมีการสำรวจคอพอกในเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาทุกภาคของประเทศและพบว่าแม้แต่ภาคใต้ก็ยังพบปัญหาการขาดสารไอโอดีน ในปี 2540 จึงได้มีการชักชวนผู้ผลิตเกลือที่ใช้ในครัวเรือนให้มาเสริมไอโอดีนและจัดตั้งชมรมผู้ประกอบการเกลือบริโภคเสริมไอโอดีนในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 281 โรงงาน
ประเทศไทยยังพบพื้นที่หลายแห่งที่เสี่ยงต่อการขาดสารไอโอดีน ต้องดำเนินมาตรการป้องกันโดยสนับสนุนให้ประชาชนใช้เกลือเสริมไอโอดีนเป็นมาตรการหลัก และให้ยาเม็ดเสริมไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร 6 เดือนหลังคลอดเป็นมาตรการเสริมขอให้ประชาชนเลือกซื้อและใช้เกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพ หรือผลิตภัณฑ์ปรุงรสเค็มที่เสริมไอโอดีน โดยสังเกตที่ฉลากต้องมีเลขที่ อย. ก่อนนำมาใช้ในการปรุงประกอบอาหาร ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องกินเกลือมากกว่าปกติ เพียงเลือกกินเกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพ ไม่เกินวันละ 1 ช้อนชา หรือเครื่องปรุงรสเค็มที่เสริมไอโอดีน ก็เพียงพอต่อการป้องกันการขาดสารไอโอดีน
"การขจัดโรคขาดสารไอโอดีนอย่างยั่งยืนต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติได้จัดทำร่างแผนการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนปี 2560 ? 2564 ตั้งเป้าควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนได้อย่างยั่งยืนในปี2564สนับสนุนและส่งเสริมให้เกลือเสริมไอโอดีนสามารถเข้าถึงได้ในทุกพื้นที่ผลิตให้เพียงพอและมีคุณภาพหญิงตั้งครรภ์ได้รับไอโอดีนอย่างเหมาะสมด้วย 4 มาตรการได้แก่ 1) เกลือเสริมไอโอดีนถ้วนหน้า (Universal Salt Iodization) สู่มาตรการเกลือเสริมไอโอดีนยั่งยืน (Sustainable Iodized Salt Initiatives) และการดำเนินงานชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนดูแลตนเอง 2) เฝ้าระวังสถานการณ์ปริมาณไอโอดีนในปัสสาวะของกลุ่มเสี่ยง3) รณรงค์ สื่อสาร ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และ 4) ศึกษาวิจัยเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนด้านนโยบายต่อไป? อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 29 ธันวาคม 2559