นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุขหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ.2551 ว่า จากกระแสข่าวนมผงสำหรับทารกในประเทศจีนปนเปื้อนเมลามีน ทำให้เด็กป่วยจำนวนมากและเสียชีวิตแล้ว 4 ราย ส่งผลให้ขณะนี้ทั่วโลกตื่นตัวต่ออันตรายจาการสารปนเปื้อนดังกล่าว รวมทั้งประเทศไทยด้วย เนื่องจากธุรกิจนมผงทั่วโลกมีมูลค่ามหาศาลถึง 13 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพราะหากแม่ให้ลูกกินนมผสมจะต้องเสียค่าใช้จ่าย 2,000 บาทต่อเดือนหรือ 24,000 บาทต่อปี ดังนั้น องค์การอนามัยโลกและประเทศสมาชิกได้ประกาศใช้หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (Code นม) เพื่อปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า เพื่อปกป้องเด็กไทยให้ได้รับการเลื้ยงลูกด้วยนมแม่ กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยจึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์สากลนี้ เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2551 ซึ่งมีใจความสำคัญ คือ 1) ห้ามโฆษณาประชาสัมพันธ์อาหารทารกและเด็กเล็ก 2) ห้ามแจกตัวอย่างสินค้าและของขวัญฟรีแก่แม่ทั้งทางตรงและทางอ้อม 3) ห้ามพนักงานการตลาดติดต่อหญิงตั้งครรภ์ แม่ และครอบครัว 4) ห้ามใช้สถานบริการสาธารณสุขเป็นที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ ห้ามบริจาคสินค้าฟรี หรือจำหน่ายราคาถูก 5) ห้ามให้ของขวัญหรือตัวอย่างสินค้าแก่บุคลากรสาธารณสุข 6) การให้ข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการอาหารทารก ต้องได้รับอนุญาตจากกรมอนามัย 7) ข้อมูลที่ให้แก่บุคลากรสาธารณสุขต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และเป็นจริง และ 8) ฉลาก ต้องไม่แสดงรูปภาพของทารกหรือข้อความชักจูงให้ใช้สินค้า
?ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ปฏิบัติตาม Code นมนี้ ร่วมกับการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน เพื่อสนองปณิธาน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร เพราะจากการศึกษาที่ยอมรับกันโดยทั่วไป พบว่า ทารกที่ได้รับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน จะได้รับสารอาหารเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย นอกจากนี้จะมีระดับสติปัญญาดีกว่ามารกที่ไม่ได้รับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน? นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าว
นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับกรณีขนมกรุบกรอบ ท๊อฟฟี่ ลูกอม ไอศกรีมที่มีส่วนผสมของนมผงที่นำเข้าจากประเทศจีน ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของเด็กและอาจจะปนเปื้อนเมลามีนได้นั้น เพื่อความปลอดภัยขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงและจัดอาหารเสริมตามวัยให้เหมาะสม เช่น ลูกอายุ 6 เดือน ให้อาหารเสริม 1 มื้อ เช่น ข้าว เนื้อสัตว์ ไข่ ผัก เมื่ออายุ 8-10 เดือน ให้อาหารเสริม 2 มื้อ หากอายุ 1 ปีขึ้นไป ให้กินอาหาร 3 มื้อ พร้อมกับพ่อแม่ได้เลย และให้ลูกดูดนมแม่หลังมื้ออาหารจนอิ่มทุกครั้ง จนลูกอายุได้ 2 ปี หรือนานกว่านั้น ถ้าจะให้ลูกปลอดภัยและได้รับสารอาหารเพียงพอ ควรให้ลูกกินผลไม้แทนขนมกรุบกรอบ จะช่วยให้ลูกปลอดภัยจากสารปนเปื้อนและสร้างพฤติกรรมการกินผลไม้ให้ลูกด้วย