คุณกำลังมองหาอะไร?

ข่า

ข่าวแจก"กรมอนามัย แนะตักบาตรเน้นอาหารสุขภาพ ลดเสี่ยงพระสงฆ์อ้วนลงพุง ย้ำอาหารกระป๋องก่อนใส่ ดูวันหมดอายุ"

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

16.07.2559
4
0
แชร์
16
กรกฎาคม
2559

ข่าวแจก"กรมอนามัย แนะตักบาตรเน้นอาหารสุขภาพ ลดเสี่ยงพระสงฆ์อ้วนลงพุง ย้ำอาหารกระป๋องก่อนใส่ ดูวันหมดอายุ"

   
 
 
        กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยปัญหาสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ เสี่ยงป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ชวนคนไทยทำบุญตักบาตรด้วยเมนูชูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม และควรเลือกซื้ออาหารที่สะอาด ปลอดภัย ปรุงประกอบถูกสุขลักษณะ ย้ำอาหารกระป๋องควรดูวันหมดอายุก่อนใส่บาตร เพื่อสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์
        นายแพทย์ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถิติข้อมูลพระสงฆ์ที่เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ ในปี 2558 พบว่าโรคที่เป็นอันดับต้นๆ คือ ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และปัญหาที่พบเห็นคือพระสงฆ์ที่มีภาวะอ้วนและอ้วนลงพุง นอกจากจะเสี่ยงต่อโรคต่างๆ แล้ว ยังเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดตามมาด้วย ซึ่งข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าการเจ็บป่วยของพระมีสาเหตุมาจากการฉันภัตตาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ อีกทั้งมีรสชาติที่หวาน มัน เค็มมากเกินไป เนื่องจากพระสงฆ์ไม่สามารถเลือกฉันอาหารเองได้ ต้องฉันตามที่ญาติโยมนำมาถวาย ประกอบกับพระภิกษุสงฆ์อยู่ในสถานภาพที่ไม่เอื้อต่อการออกกำลังกาย มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย จึงทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น สำหรับในช่วงวันเข้าพรรษา หลายคนมีการวางแผนที่จะไปทำบุญ แต่การทำบุญในแต่ละครั้งควรใส่ใจเลือกอาหารที่จะถวายแก่พระสงฆ์ อาหารที่นำมาถวายควรประกอบด้วยอาหารอย่างน้อย 4 หมู่ ได้แก่ ข้าวกล้อง เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เพื่อลดพลังงานส่วนเกินที่จะไปสะสมในร่างกาย ผักต่างๆ ที่มีใยอาหารช่วยในการขับถ่าย ผลไม้ที่ไม่มีรสหวาน อาทิ กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง ส้ม แอปเปิ้ล และมะละกอ รวมถึงการปรุงประกอบอาหารควรทำให้สุกด้วยวิธีต้ม นึ่ง ย่าง ยำ อบ หรือทำเป็นน้ำพริก หากจำเป็นต้องผัดหรือใช้กะทิประกอบอาหารควรใช้ในปริมาณน้อย รสชาติอาหารต้องไม่หวานจัด มันจัด และเค็มจัด ลดถวายขนมหวาน เพราะมีปริมาณน้ำตาลสูง ควรเลือกนมจืดหรือนมพร่องมันเนย น้ำสมุนไพรสูตรหวานน้อย หรือน้ำเปล่า
        นายแพทย์ณัฐพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับประชาชนที่นิยมตักบาตรด้วยอาหารกระป๋อง อาทิ ผลไม้กระป๋อง น้ำผลไม้กระป๋อง รวมทั้งเครื่องดื่มหรือผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกาย ก่อนเลือกซื้อควรอ่านฉลากข้างกระป๋องให้ละเอียดโดยต้องมีเลขทะเบียนตำรับอาหาร ชื่อ ที่ตั้ง สถานที่ผลิต วัน เดือน ปี ที่ผลิต ชื่อปริมาณวัตถุ เจือปนในอาหาร น้ำหนักสุทธิ ลักษณะของกระป๋องต้องไม่บวม ไม่บุบบู้บี้ ไม่เป็นสนิม ตะเข็บกระป๋องต้องไม่มีรอยรั่ว เพราะหากมีแสดงว่าเกิดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์และเจริญเติบโต โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียคอสทีเดียม โบทูลินั่ม จะสร้างสารพิษโบทูลินั่มที่ส่งผลต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง หากเข้าสู่ร่างกายจะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการอัมพาตของกล้ามเนื้อต่างๆ สายตาพร่ามองเห็นเป็นภาพซ้อน ซึม ง่วง กลืนอาหารไม่สะดวก ลิ้นและคออักเสบ เพราะไม่สามารถกลืนน้ำลายได้ กล้ามเนื้อต้นคออ่อนแรงจนยกหัวไหล่ไม่ขึ้น จะแสดงอาการให้เห็นภายใน 2-4 ชั่วโมง แต่สำหรับบางรายอาจใช้เวลานานถึง 12-36 ชั่วโมง หากไม่ได้รับการรักษาโดยทันทีอาจเสียชีวิตด้วยระบบหายใจล้มเหลว ดังนั้น หากพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน
        "ทั้งนี้ หากปรุงประกอบอาหารตักบาตรด้วยตนเอง ควรใส่ใจตั้งแต่การเลือกซื้อวัตถุดิบ และการปรุงประกอบอาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ รสชาติไม่หวาน มัน เค็ม หากซื้ออาหารปรุงสำเร็จควรคำนึงถึงความสะอาด ปลอดภัย และได้คุณค่าทางโภชนาการ ควรเลือกซื้อจากร้านจำหน่ายอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ปรุงสุกใหม่ มีการปกปิดป้องกันแมลงวันตอม ใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่สะอาด ปลอดภัย สังเกตผู้ขายที่มีสุขอนามัยที่ดี คือ ต้องสวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม ตัดเล็บสั้น และใช้อุปกรณ์หรือสวมถุงมือในการหยิบจับอาหาร และอาหารที่เลือกตักบาตรควรเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ นอกจากจะอิ่มบุญแล้วยังช่วยให้พระสงฆ์ไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรค? รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
***
สำนักสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง/ 16 กรกฎาคม 2559

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน

ติดตามข่าวสารได้ที่

แทงบอลออนไลน์ || ดูบอลสด UFABET