คุณกำลังมองหาอะไร?

รมอนามัย เผย สิงห์อมควันเสี่ยงฟันหมดปากสูง ชี้หากป่วยปริทันต์ ผ่าฟัน ถอนฟัน หวั่นติดเชื้อง่าย

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

29.05.2557
0
0
แชร์
29
พ.ค.
2557

กรมอนามัย เผย สิงห์อมควันเสี่ยงฟันหมดปากสูง ชี้หากป่วยปริทันต์ ผ่าฟัน ถอนฟัน หวั่นติดเชื้อง่าย

       
        กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ที่สูบบุหรี่มีผลเสียต่อสุขภาพช่องปากโดยตรง ตั้งแต่เสียบุคลิกภาพ เสียฟันหมดปากก่อนคนทั่วไปถึงสองเท่า และหากป่วยโรคปริทันต์จะรักษาไม่หายขาด หากต้องถอนฟัน ผ่าฟันคุด ถ้ายังไม่เลิกบุหรี่ทำให้แผลหายช้าและมีโอกาสติดเชื้อง่าย
        ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากผลสำรวจของกรมอนามัย ปี 2555 พบว่าคนไทยกลุ่มวัยทำงานสูบบุหรี่ร้อยละ19.6 สูบเฉลี่ย11.7 มวนต่อวัน สูบมาแล้วนานเฉลี่ย 15.6 ปี และพบผู้ที่เคยสูบแต่สามารถเลิกได้แล้วร้อยละ 10.6 ข้อมูลทางการแพทย์พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่ 5-14 มวนต่อวัน จะมีโอกาสสูญเสียฟันมากกว่าคนไม่เคยสูบบุหรี่ถึงสองเท่า และแม้จะเลิกสูบบุหรี่แล้วต้องใช้เวลานาน 10-12 ปี ความเสี่ยงต่อการสูญเสียฟันจึงจะลดลงเท่าคนปกติ ซึ่งช่องปากเป็นด่านแรกที่ได้รับพิษภัยจากบุหรี่ ผลกระทบแรกที่เห็นได้ชัดเจนคือ มีคราบสีดำหรือน้ำตาลติดแน่นบนตัวฟันและวัสดุอุดฟันมีการเปลี่ยนสี ทำให้ช่องปากสกปรกและมีกลิ่นปาก
        ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า ควันและความร้อนจากการสูบบุหรี่ทำให้เนื้อเยื่ออ่อนในช่องปากระคายเคือง เกิดการอักเสบและหนาตัวของเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก เช่น เหงือก กระพุ้งแก้ม รูเปิดของต่อมน้ำลาย และลิ้นเป็นฝ้า ทำให้การรับรสและกลิ่นด้อยลงกว่าปกติ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อไปเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งช่องปากด้วย ลักษณะที่พบจะเป็นรอยแผ่นคราบสีขาว หรือสีแดง ขูดไม่ออก อาจพบได้ทั้งกระพุ้งแก้ม เหงือกและลิ้น รวมถึงการมีแผลในช่องปากที่ไม่หายเองภายในสองสัปดาห์ หากพบความผิดปกติเช่นนี้ มีโอกาสที่จะเปลี่ยนเป็นมะเร็งได้ ต้องรีบพบทันตแพทย์ทันที ผู้ที่สูบบุหรี่ทุกวันโดยเฉพาะที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปจึงควรให้ทันตแพทย์ตรวจสุขภาพช่องปากเพื่อหารอยโรคก่อนมะเร็งในช่องปากเป็นประจำ การรักษาตั้งแต่ระยะแรกจะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากขึ้น "การสูบบุหรี่ยังเป็นอุปสรรคต่อการรักษาทางทันตกรรมหลายรายการ ซึ่งคราบบุหรี่ที่เหนียวเหมือนน้ำมันดินจะติดแน่นบนตัวฟัน การขัดออกเพื่อทำความสะอาดฟันต้องใช้เวลามาก ผู้สูบบุหรี่ที่เป็นโรคปริทันต์จะรักษาไม่หายขาด อีกทั้งโรคยังจะลุกลามมากขึ้นจนต้องสูญเสียฟันไป ในผู้ที่ต้องถอนฟัน ผ่าฟันคุด หรือผ่าตัดในช่องปาก ถ้าไม่ยอมหยุดสูบบุหรี่จะทำให้แผลหายช้า และมีโอกาสติดเชื้อที่เบ้ากระดูกได้ง่าย การใส่รากฟันเทียมเป็นข้อห้ามในคนสูบบุหรี่ เนื่องจากโอกาสประสบความสำเร็จน้อยมาก ทำให้เสียค่าใช้จ่ายซึ่งสูงมากโดยเปล่าประโยชน์? อธิบดีกรมอนามัยกล่าว
        ทางด้าน ทันตแพทย์สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ทันตแพทย์มีวิธีการ 4 ขั้นตอนด้วยกันที่จะช่วยให้สามารถเลิกบุหรี่ โดยขั้นตอนแรกเป็นการซักถามประวัติการสูบบุหรี่ ระยะเวลาที่ใช้บุหรี่ เพื่อประเมินความยากง่ายในการเลิก ขั้นตอนที่ 2 เป็นการจูงใจให้เลิกสูบบุหรี่ตามความพร้อมของแต่ละบุคคล ทันตแพทย์จะให้ผู้ป่วยได้เห็นผลของบุหรี่ต่อสภาพในช่องปากของตนเอง ขั้นตอนที่ 3 เป็นการกำหนดวันเลิกบุหรี่ของผู้ที่พร้อมจะเลิก ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำวิธีเลิก การบำบัดอาการที่เกิดในระยะแรกของการเลิกบุหรี่ ผู้สูบจะมีอาการหงุดหงิด ซึ่งสามารถแก้ได้โดยการดื่มน้ำเย็นบ่อยๆ ครั้งละ 1- 2 แก้ว จะช่วยให้การหมุนเวียนของเลือดดีขึ้น นิโคตินจะถูกขับถ่ายออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว
        "ในช่วงแรกของการเลิกสูบบุหรี่หากรู้สึกปากว่างให้กินของขบเคี้ยวที่ไม่ทำให้ฟันผุ เช่น มะนาวชิ้นเล็กๆ หมากฝรั่ง ยาเม็ดสมุนไพร กานพลู เป็นต้น หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และงดดื่มสุรา ชา กาแฟ ซึ่งในช่วง 7 วันแรกควรมีการออกกำลังเพื่อทำให้ร่างกายผู้เลิกบุหรี่ฟื้นตัวเร็วขึ้น โดยเฉพาะปอดจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งช่วยผ่อนคลายความเครียดที่เกิดจากความอยากสูบบุหรี่ได้ และขั้นตอนที่ 4 จะเป็นการติดตามผล โดยนัดผู้ป่วยมาติดตามผลครั้งแรกภายใน 1-2 สัปดาห์ เพราะอาการอยากบุหรี่จะรุนแรงที่สุดในช่วง 3 วันแรก ผู้ใกล้ชิดควรให้กำลังใจ และการนัดครั้งที่ 2 จะมีขึ้นภายใน 1 เดือน เนื่องจากผู้ที่เคยเลิกสูบบุหรี่จำนวนมากที่หวนกลับมาสูบใหม่ จึงต้องทำการติดตามผลอีกเมื่อครบ 3 และ 6 เดือน พร้อมนัดตรวจรักษาช่องปากต่อไปทุก ๆ 6 เดือน และให้ผู้ที่ต้องการเลิกสุบบุหรี่จำไว้เสมอว่าการตามใจตัวเองโดยการขอสูบบุหรี่อีกครั้งเพียงมวนเดียวจะทำให้การเลิกบุหรี่ล้มเหลวในทันที? รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
 
***
สำนักสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง/ 29 พฤษภาคม 2557
 

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน