คุณกำลังมองหาอะไร?

ข่า

ข่าวแจก "กรมอนามัย แนะหน้าร้อนเลี่ยงกินอาหารที่มีกะทิ น้ำมัน เหตุไขมันให้พลังงานสูง เพิ่มร้อนในร่างกาย"

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

21.03.2557
0
0
แชร์
21
มีนาคม
2557

ข่าวแจก "กรมอนามัย แนะหน้าร้อนเลี่ยงกินอาหารที่มีกะทิ น้ำมัน เหตุไขมันให้พลังงานสูง เพิ่มร้อนในร่างกาย"

           
        กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยกินอาหารหน้าร้อนต้องครบ 5 หมู่หลีกเลี่ยงอาหารประเภทกะทิ น้ำมัน เนื่องจากให้ไขมันสูง รวมทั้งเลี้ยงอาหารประเภทส้มตำ อาหารทะเล อาหารหมักดอง พร้อมย้ำให้กินอาหารปรุงาุกทุกครั้ง และยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เพื่อป้องกันอุจจาระร่วง
        ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงการบริโภคอาหารในหน้าร้อน ว่า การกินอาหารในหน้าร้อนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อสุขภาพ โดยควรดื่มน้ำสะอาด หรือน้ำต้มสุกให้มากกว่าปกติ เนื่องจากอากาศร้อนร่างกายต้องขับเหงื่อเพื่อระบายความร้อน หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหวานเพราะจะทำให้กระหายน้ำมากขึ้น ส่วนการบริโภคอาหารนั้น ควรกินให้ครบ 5 หมู่ แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เนื่องจากอาหารประเภทนี้ให้พลังงานสูงทำให้เกิดความร้อนในร่างกาย รวมทั้งอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง นม เพราะเป็นอาหารที่ต้องใช้พลังงานในการย่อยและนำไปใช้สูงกว่าข้าว ผัก และผลไม้ ทำให้ทางเดินอาหารทำงานหนัก ควรกินในปริมาณที่พอเหมาะ จึงควรเน้นไปที่ผักและผลไม้ที่มีปริมาณน้ำสูงและไม่หวานจัด เช่น แตงกวา บวบ ตำลึง มะระ ฟักเขียว แตงโม มะเขือเทศ กล้วย และงดหรือลดผลไม้ที่มีฤทธิ์ร้อนประเภททุเรียน ขนุนสุก มะม่วงสุก เป็นต้น
        ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาสุขภาพที่ต้องระวังในหน้าร้อน คือ อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ เนื่องจากอากาศที่ร้อนเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในอาหาร ทำให้อาหารบูดง่าย จึงควรเลือกซื้ออาหารที่ปรุงสุกใหม่ สะอาด ส่วนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงในช่วงหน้าร้อน อาทิ ส้มตำ อาหารทะเล อาหารหมักดอง อาหารที่มีส่วนประกอบของกะทิ ยำและลาบ เนื่องจากมีการปรุงแบบสุก ๆ ดิบ ๆ ทำให้เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคและหากไม่ผ่านการปรุงสุกอาจมีตัวอ่อนของพยาธิติดมา อีกด้วย การกินอาหารแต่ละครั้งให้ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เพื่อสุขอนามัยที่ดี ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า โรคอุจจาระร่วงเกิดขึ้นกับได้ประชาชนทุกวัย พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี สาเหตุเกิดได้ทั้งจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส โปรโตซัว ปรสิต หนอนพยาธิ โดยเชื้อจะปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม ซึ่งสถานการณ์โรคอุจจาระร่วงปี 2557 จากรายงานการเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยาในเดือนมกราคม 2557 พบว่า มีผู้ป่วยกว่า 14,000 ราย จาก 66 จังหวัด ไม่พบผู้เสียชีวิต โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคืออายุ 1 ปี รองลงมาคือ อายุมากกว่า 65 ปี พบอัตราป่วยสูงสุดในภาคเหนือ รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
        "สำหรับการบริโภคอาหารหน้าร้อนของเด็กในช่วงปิดเทอมนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครองควรใส่ใจเรื่องการปรุงอาหารที่สะอาด ปลอดภัย เพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อโรค พร้อมเน้นให้เด็กกินอาหารครบ 5 หมู่ ลดอาหารที่มีปริมาณของแป้ง ไขมัน และโซเดียมสูง เช่น ไก่ทอด พิซซ่า และควรเตรียมผลไม้สดเป็นของว่างระหว่างมื้อ หรือจัดผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ถั่วเมล็ดแห้ง สลับกันไป เช่น ซาลาเปาไส้หมูแดง ขนมจีบ ขนมไทยรสไม่หวานจัด ซึ่งเด็กอายุ 6-18 ปี ควรบริโภคอาหารกลุ่มต่าง ๆ ใน 1 วัน ประกอบด้วย กลุ่มข้าว แป้ง 8-10 ทัพพี ผัก 4-5 ทัพพี ผลไม้ 3-4 ส่วน เนื้อสัตว์ 6-9 ช้อนกินข้าว นม 3 แก้ว ส่วนอาหารประเภทน้ำมัน น้ำตาล และเครื่องปรุงรสเค็มให้กินแต่น้อยเท่าที่จำเป็น ซึ่งปริมาณอาหารที่แนะนำนี้จะช่วยให้เด็กได้รับพลังงานและสารอาหารที่เพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ ส่งผลให้เด็กมีการเจริญเติบโตที่ดี และให้เด็กมีการเคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกายเป็นประจำด้วย? อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
 
***
สำนักสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง / 19 มีนาคม 2557
 

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน