คุณกำลังมองหาอะไร?

ข่า

ข่าวแจก "กรมอนามัย เตือนหน้าร้อนตุนน้ำเลี่ยงใช้ขวดพลาสติกซ้ำ เสี่ยงรับเชื้อแบคทีเรีย"

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

13.03.2557
0
0
แชร์
13
มีนาคม
2557

ข่าวแจก "กรมอนามัย เตือนหน้าร้อนตุนน้ำเลี่ยงใช้ขวดพลาสติกซ้ำ เสี่ยงรับเชื้อแบคทีเรีย"

          
 
        กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงสุขภาพประชาชนเตือนเลี่ยงนำขวดพลาสติกมาใช้ซ้ำเสี่ยงอันตรายจากการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย แนะหากจำเป็นต้องใช้ควรมีการทำความสะอาดที่ถูกวิธี และหมั่นสังเกตลักษณะของขวด หากมีรอยชำรุด รั่ว แตกร้าว บุบ ไม่ควรนำมาใช้พร้อมเน้นย้ำให้ดื่มน้ำที่สะอาดเท่านั้น เพื่อไม่ก่อให้เกิดโรคที่เกิดจากน้ำเป็นสื่อตามมา
        ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประชาชนที่มีการนำขวดพลาสติกเปล่าที่ผ่านการใช้งานแล้วมาใส่น้ำไว้สำหรับดื่มหรือใช้ในครัวเรือนนั้น บางครั้งไม่ได้ผ่านการทำความสะอาดที่ถูกวิธี โดยเฉพาะบริเวณ ปากขวดและฝาขวดที่เกิดจากการใช้ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้ขวดน้ำกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียที่มัก พบมากในน้ำบรรจุขวดพลาสติกที่มีการเติมน้ำซ้ำ ๆ กันหลายครั้ง ซึ่งผลจากการเก็บน้ำดื่มบรรจุขวดโดยกรมอนามัย ปี 2555เพื่อตรวจสอบ จำนวน 131 ตัวอย่าง พบมีการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย จำนวน 85 ตัวอย่าง คิดเป็น ร้อยละ 65 ประชาชนจึงควรให้ความสำคัญโดยเฉพาะสารเคมีที่เป็นอันตรายจากพลาสติก เพราะการขัดถูเพื่อล้างทำความสะอาดขวดน้ำ อาจทำให้เกิดรอยขูดขีดหรือการบุบชำรุดของขวดที่เกิดจากการนำมาใช้ซ้ำ หรือหากขวดน้ำตั้งอยู่ในบริเวณที่มีความร้อนหรือได้รับแสงแดดอาจทำให้สารเคมีจากขวดพลาสติกปนเปื้อนลงในน้ำที่อยู่ในขวดได้ แต่ในกรณีที่จำเป็นต้องนำขวดพลาสติกเก่ามาใช้ก็ควรทำความสะอาดให้ทั่วถึงและต้องสังเกตลักษณะของขวด หากมีรอยชำรุด รั่ว แตกร้าว บุบ ก็ไม่ควรนำมาใช้ หรือหากเป็นขวดที่มีการปนเปื้อนดินก็ควรหลีกเลี่ยงในการนำมาใช้ซ้ำเช่นกัน

        ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือความสะอาดปลอดภัยของน้ำดื่ม โดยเฉพาะในพื้นที่ทุรกันดารที่ขาดแคลนน้ำสะอาด ก่อนนำมาดื่มควรต้มให้เดือดอย่างน้อย 5 นาที เก็บในภาชนะที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิด ส่วนการนำน้ำจากแม้น้ำ ลำคลอง หรือแหล่งน้ำผิวดินแหล่งอื่น ๆ มาใช้โดยตรง ควรปรับปรุงคุณภาพน้ำและ ฆ่าเชื้อโรคก่อน ด้วยการแกว่งสารส้มชนิดก้อนในน้ำและให้สังเกตตะกอนในน้ำ หากเริ่มจับตัวให้นำสารส้มออกตั้งทิ้งไว้ จนตกตะกอน แล้วนำเฉพาะน้ำใสมาฆ่าเชื้อโรคโดยใช้หยดทิพย์ อ.32 ของกรมอนามัย ซึ่งเป็นสารละลายคลอรีนชนิดเข้มข้น 2 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วน 1 หยดต่อน้ำ 1 ลิตร หรือเติมผงปูนคลอรีนตามปริมาณที่กำหนด จากนั้นปล่อยให้มีระยะเวลาฆ่าเชื้อโรคอย่างน้อย 30 นาที ก่อนนำไปใช้ ซึ่งจะช่วยป้องกันเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในน้ำ และไม่ก่อให้เกิดโรคที่เกิดจากน้ำเป็นสื่อตามมาได้ "สำหรับการเลือกซื้อน้ำแข็งเพื่อดับร้อนนั้น ให้สังเกตลักษณะของน้ำแข็งจะต้องใส สะอาด บรรจุในซองพลาสติกหรือถุงพลาสติกที่ปิดผนึกเรียบร้อย มีเครื่องหมาย อย. รับรองอย่างถูกต้อง ซึ่งร้านอาหารหรือแผงลอยต้องเก็บน้ำแข็งในภาชนะที่สะอาด มีฝาปิด ไม่เป็นสนิม และตั้งสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร ห้ามน้ำอาหารหรือเครื่องดื่มมาแช่ในน้ำแข็งที่ใช้บริโภค เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคและสิ่งสกปรก?อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
 
***
สำนักสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง / 13 มีนาคม 2557
 

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน