คุณกำลังมองหาอะไร?

ข่า

ข่าวแจก "กรมอนามัยเผยเด็กร้อยละ 50 ปากแตก-ฟันหน้าหัก เหตุซนปิดเทอม วอนพ่อแม่คุมเข้ม"

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

04.03.2557
0
0
แชร์
04
มีนาคม
2557

ข่าวแจก "กรมอนามัยเผยเด็กร้อยละ 50 ปากแตก-ฟันหน้าหัก เหตุซนปิดเทอม วอนพ่อแม่คุมเข้ม"

 
 
 
        กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยช่วงปิดเทอมเป็นช่วงที่มีสถิติเด็กได้รับอุบัติเหตุมากกว่าปกติ โดยเฉพาะปากแตก ฟันหัก เตือนให้ผู้ปกครองช่วยกันดูแล พร้อมแนะการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
        ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ช่วงปิดเทอมจะเป็นช่วงที่เด็กได้รับอุบัติเหตุมากกว่าปกติเนื่องจากเด็กมีเวลาว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น เช่น การเล่น การท่องเที่ยวหรือการเล่นกีฬาต่าง ๆ ซึ่งมีความรุนแรงตั้งแต่บาดเจ็บเล็กน้อยจนถึงขั้นเสียชีวิตโดยเฉพาะการบาดเจ็บที่บริเวณช่องปาก เช่น ปากแตก ฟันหัก จากข้อมูลพบว่า เด็กร้อยละ 50 เคยได้รับอุบัติเหตุบริเวณปากและฟันหน้าด้านบนเป็นส่วนใหญ่โดยฟันซี่ ที่ผุและเด็กที่มีฟันหน้ายื่นจะมีโอกาสฟันหักได้มากกว่า ซึ่งจะเกิดกับเด็กในช่วงอายุ 8 - 12 ปี และเกิดในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง ผู้ปกครองจึงควรดูแลและสอนบุตรหลานให้รู้จักระมัดระวังตัวเองและผู้อื่นในขณะเล่น โดยเฉพาะสถานที่ที่มีความเสี่ยง เช่น สนามเด็กเล่น ควรตรวจสอบก่อนที่จะให้บุตรหลานเล่น ว่าอยู่ในสภาพดีหรือไม่ เครื่องเล่นต้องมีการยึดรากฐานให้มั่นคง ไม่ชำรุด ขึ้นสนิมหรือมีรอยแตกหัก สำหรับสระว่ายน้ำก็ควรมีผู้ดูแลสระ และเล่นหรือกระโดดน้ำในสระเฉพาะที่จัดไว้สำหรับเด็กรวมทั้งการเล่นกีฬาที่มีการกระทบกระแทกเป็นประจำ เช่น ชกมวย เทควันโด บาสเกตบอล ควรให้เด็กใส่เครื่องมือป้องกันฟัน
        ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า การดูแลให้เด็กมีสุขภาพฟันดีไม่มีฟันผุ จะช่วยลดความรุนแรงหลังเกิดอุบัติเหตุได้ เพราะฟันที่ผุจะมีเนื้อฟันที่ไม่แข็งแรง เมื่อโดนกระแทกเพียงเล็กน้อยก็สามารถแตกหักได้ง่าย ซึ่งส่วนที่แหลมคมของฟันที่ผุอาจทำอันตรายต่อแก้มและริมฝีปากทำให้เกิดบาดแผล ส่วนเด็กที่มีฟันหน้าบนยื่นมาก ริมฝีปากปิดไม่สนิท ควรได้รับการจัดฟันเพื่อลดการยื่นของฟัน เพราะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้มากกว่าเด็กที่ไม่มี ฟันยื่นถึง 2 เท่า
        "ทั้งนี้ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นในกรณีที่เด็กได้รับอุบัติเหตุหากบาดเจ็บเฉพาะช่องปากอาจมีเลือดออกจากแผลที่ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม หรือเหงือก ให้ใช้ผ้าสะอาดกดให้เลือดหยุดหรือใช้ผ้าสะอาดห่อน้ำแข็งประคบ เพื่อช่วยให้เลือดหยุดไหลและรีบนำเด็กไปพบทันตแพทย์ทันที หากอุบัติเหตุรุนแรงจนฟันหลุดออกจากเบ้าฟัน ควรรีบเก็บฟันซี่นั้นแช่ในน้ำนมหรือน้ำเกลือ ไม่ควรเก็บฟันแบบแห้ง เช่น ห่อกระดาษทิชชู และควรนำเด็กไปพบ ทันตแพทย์โดยเร็วที่สุดไม่เกิน 2 ชั่วโมง หลังจากได้รับอุบัติเหตุ เพราะทันตแพทย์จะนำฟันใส่กลับเข้าที่ได้ โดยวิธีการยึดฟันไว้ที่เดิมประมาณ 1 สัปดาห์ - 1 เดือน จากนั้นจึงให้การรักษาที่เหมาะสม ซึ่งมีโอกาสที่ฟันจะกลับมายึดติดและใช้งานได้ดีที่สุดหากพบทันตแพทย์ได้ภายใน 30 นาที แต่หากเด็กมีการบาดเจ็บร่างกาย ศีรษะ และมีอาการมึนงงหมดสติ คลื่นไส้ อาเจียนให้รีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด? อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
 
***
สำนักสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง / 4 มีนาคม 2557
 

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน