คุณกำลังมองหาอะไร?

ข่า

ข่าวแจก "กรมอนามัยแนะ 7 ข้อเพื่อการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ร่วมชุมนุม"

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

14.01.2557
42
0
แชร์
14
มกราคม
2557

ข่าวแจก "กรมอนามัยแนะ 7 ข้อเพื่อการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ร่วมชุมนุม"

 
 
 
        เหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยในสุขภาพอนามัยของผู้ชุมนุมเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของผู้ชุมนุมท่ามกลางคนหมู่มาก ประกอบกับสภาพอากาศที่ลดต่ำลงในช่วง 2-3 วันนี้ อาจส่งผลต่อสุขภาพทำให้เกิดการเจ็บป่วยขึ้นได้
        ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ มีบุคคลหลายกลุ่มที่เข้าร่วมชุมนุม การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของผู้ชุมนุมท่ามกลางคนหมู่มาก ประกอบกับสภาพอากาศที่ลดต่ำลงในช่วง 2-3 วันนี้ อาจส่งผลต่อสุขภาพจนทำให้เกิดการเจ็บป่วยขึ้นได้ ด้วยความห่วงใย ในสุขภาพอนามัยของพี่น้องผู้ร่วมชุมนุม จึงขอฝากข้อ แนะนำในการดูแลตนเองให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกัน ปัญหาการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงที่อยู่ระหว่างการชุมชุม ซึ่งมี 7 ข้อ ดังนี้
ข้อ1.น้ำดื่ม ผู้ชุมนุมควรดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งโดยปกติแล้วคนเราจะดื่มน้ำอย่างน้อย 5-8 แก้วต่อวัน แต่ในช่วงที่ชุมนุมจะเป็นการอยู่ในพื้นที่กลางแจ้ง อากาศจะร้อนผู้ชุมนุมอาจเสียเหงื่อมาก ดังนั้น ผู้ชุมนุมควรเตรียมน้ำดื่มเพิ่มอีกประมาณ 1-2 เท่า เพื่อให้เพียงพอต่อการดื่มในแต่ละวัน
ข้อ2. อาหาร ถึงแม้จะอยู่ในพื้นที่ชุมนุม ผู้ชุมนุมก็ไม่ควรละเลยเรื่องการกินอาหาร ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลือกกินอาหารที่สุกสะอาดเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ ที่สำคัญควรพกกล้วยน้ำหว้าติดตัวไว้ เวลาหิวก็สามารถกินกล้วยรองท้องได้ ในกล้วยน้ำหว้า 1 ใบจะอุดมด้วยสารอาหารและวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกายมากมายและยังมีสรรพคุณทางยาด้วย เช่น ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอหรืออาการเจ็บหน้าอกจากการไอแห้งๆ ช่วยระงับกลิ่นปากได้ และยังเป็นยาระบายช่วยแก้ท้องผูกด้วย วิธีการคือให้กินกล้วยน้ำว้าสุก 1-2 ลูกก่อนนอน แล้วดื่มน้ำตามมากๆจะช่วยให้ถ่ายท้องได้ดีในวันรุ่งขึ้น ในแต่ละวันจึงควรกินกล้วยน้ำหว้าให้ได้อย่างน้อย 2 ลูกจะยิ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพมากๆ
ข้อ3.คือการนอนหลับพักผ่อน ผู้ชุมนุมควรนอนหลับให้สนิทให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมงให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ขณะที่ต้องนอนหลับพักผ่อนอยู่ในพื้นที่ชุมนุมควรหาผ้าปิดตาป้องกันแสงเข้าตา และควรใช้เครื่องอุดหูป้องกันเสียงรบกวนขณะหลับซึ่งจะช่วยให้หลับได้สนิทและร่างกายจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่
ข้อ4.การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล การใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ชุมนุมที่มีผู้คนอยู่ร่วมกันมากมายต้องใส่ใจเรื่อง สุขอนามัยส่วนบุคคลด้วยเพราะอาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อโรคต่างๆได้ง่ายและรวด เร็ว ข้อนี้ขอให้ใช้หลักกินร้อน ช้อนกลาง(พกมาเองและติดตัวไว้เสมอ) ล้างมือบ่อยๆเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ ถ้าน้ำหายากก็ให้พกเจลล้างมือติดตัวไว้ซึ่งสะดวกกว่าการใช้น้ำ สำหรับผู้ชุมนุมที่มีอาการป่วยหรือไม่สบายต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน การแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น ที่สำคัญการขับถ่ายต้องเป็นที่เป็นทาง ตามสถานที่หรือบริเวณที่ได้มีการจัดเตรียม ไว้และต้องรักษาความสะอาดทุกครั้ง ทั้งก่อนและหลังการขับถ่ายด้วย
ข้อ5. การเตรียมความพร้อมของตัวเอง เพื่อป้องกันความร้อนและแสงแดดที่จะแผดเผาร่างกายในระหว่างชุมนุม ผู้ชุมนุมควรใส่เสื้อแขนยาว ใส่หมวกและแว่นกันแดด รวมทั้งรองเท้าที่สวมใส่สบายให้พร้อมในการเดิน ไม่ควรเดินติดต่อกันเป็นเวลา นานเกินไปเพราะจะทำให้ร่างกายอ่อนหล้า ควรเดินประมาณ 30 นาทีแล้วหยุดพักก่อน หลังจากนั้นค่อยเริ่มเดินใหม่ ไม่ควรเดินเร็วเกินไปเพราะจะทำให้เหนื่อยง่ายและจะทำให้เสียเหงื่อมาก ควรเตรียมน้ำสำหรับดื่มในระหว่างเดินด้วย โดยค่อยๆจิบทีละนิดน้ำจะได้ไม่ถูกขับออกทางเหงื่อและจะช่วยไม่ให้หิวน้ำบ่อย นอกจากนี้สตรีที่อยู่ในระหว่างมีรอบเดือนควรเตรียมผ้าอนามัยให้พร้อม และในผู้ที่มีโรคประจำตัวก็ต้องเตรียมยาไปให้พร้อมด้วย
ข้อ6. การจัดการกับอารมณ์และความเครียดของตนเอง ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุมจะมีระดับความเครียดสูงกว่าผู้ที่อยู่นอกพื้นที่ชุมนุม เพราะความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสถานการณ์ร่วมกับสิ่งแวดล้อมและสื่อรอบตัว ซึ่งความเครียดจะมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของผู้ชุมนุม เช่น นอนไม่หลับ เมื่อยล้า ปวดตึงศีรษะ เหนื่อยง่าย ทำให้ผู้ชุมนุมว้าวุ่นใจ หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว ฟุ้งซ่าน อารมณ์ขึ้นลงไปกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และความเครียดที่ถูกเก็บสะสมไว้มากๆหากไม่ได้รับการจัดการอาจเป็นชนวนของการก่อเหตุรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้นผู้ชุมนุมควรหาวิธีคลายเครียดให้กับตัวเองเช่น เล่นเกมหรือฟังเพลงจากโทรศัพท์มือถือ งดการติดตามข่าวสารสถานการณ์ทางการเมืองจากสื่อต่างๆชั่วคราวทั้งจากมือถือ เฟสบุ๊คหรือจากช่องทางต่างๆที่มีอยู่ เพื่อลดอุณหภูมิความเครียดให้ตัวเอง หรืออาจชวนเพื่อนๆผู้ร่วมชุมนุมทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย ยืดเส้นยืดสาย ทำกิจกรรมบันเทิงร่วมกัน พูดคุยเรื่องอื่นหรือหลบไปอยู่ในที่เสียงไม่ดังมาก กลับไปพักผ่อนที่บ้านใช้เวลาอยู่กับครอบครัวแล้วค่อยกลับมาใหม่ เป็นต้น
ข้อ7.ไม่ควรเดินทางไปร่วมชุมนุมเพียงลำพัง สำหรับผู้ที่ต้องการจะไปร่วมชุมนุมทางการเมือง ไม่ควรจะไปเพียงลำพัง ควรไปกับเพื่อนฝูงที่สนิทหรือผู้ที่ไว้ใจได้อย่างน้อย 1-2 คนเพราะหากเกิดเหตุปะทะหรือเหตุที่ไม่คาดคิดขึ้นจะได้ช่วยเหลือกันได้ ที่สำคัญไม่ควรพาเด็กไปด้วยเพราะจะดูแลได้ยากถ้าหากเกิดเหตุรุนแรงขึ้น และอาจทำให้เด็กฝังใจกับเหตุการณ์รุนแรงที่ได้พบเห็น ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเด็กได้ในอนาคตอธิบดีกรมอนามัยกล่าวปิดท้าย
 
***
สำนักสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง / 14 มกราคม 2557
 

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน