กระทรวงสาธารณสุข เร่งระดมเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และจัดเตรียม ชุดนายสะอาด? กว่าหมื่นชุด เพื่อป้องกันโรคระบาดที่เกิดจากอาหารน้ำเป็นสื่อ
นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยจึงได้มอบหมายให้กรมอนามัยจัดเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยเน้นความปลอดภัยด้านอาหารและน้ำ ซึ่งขณะนี้กำลังจัดเตรียม ชุดนายสะอาด? กว่าหมื่นชุด ล่าสุดได้ส่งมอบไปยังศูนย์อนามัยเขตฯแล้ว จำนวนกว่า 3,000 ชุด เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยตามจังหวัดต่างๆ ได้แก่ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา สระแก้ว ศรีสะเกษ และสุรินทร์
นายสรวงศ์ กล่าวต่อไปว่า ชุดนายสะอาดประกอบด้วยเอกสารแนะนำการดูแลสุขภาพตนเองช่วงน้ำท่วม สบู่และเจลล้างมือใช้เพื่อทำความสะอาดมือก่อนรับประทานอาหาร หลังการขับถ่ายหรือจับสิ่งสกปรก สารส้มและคลอรีนน้ำ(หยดทิพย์) ช่วยทำให้น้ำสะอาดสามารถนำมาดื่ม ปรุงอาหารและชำระล้างได้ วิธีการใช้คือ ตักน้ำใส่ถังถ้าน้ำมีความขุ่นมากให้ตั้งทิ้งไว้ก่อนประมาณ 6?12 ชั่วโมง จากนั้นนำสารส้มมากวนน้ำประมาณ 1?2 นาที ตั้งทิ้งไว้จนตกตะกอน แยกน้ำที่ใสออกมาเติมคลอรีนน้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรค ใช้ 1 หยดต่อน้ำ 1 ลิตร ทิ้งไว้ 30 นาที จึงสามารถนำน้ำมาใช้ได้ แต่การนำน้ำมาบริโภคต้องต้มน้ำให้เดือดก่อนเพื่อความปลอดภัย ถุงจัดหนัก ถุงจัดเต็ม เป็นถุงสีส้มที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไว้เก็บรวมรวมสิ่งปฏิกูลโดยใช้ถุงจัดหนักสำหรับขับถ่าย มัดถุงให้แน่นหลังใช้งาน นำถุงจัดหนักรวบรวมไว้ในถุงจัดเต็ม เมื่อน้ำลดจึงนำไปฝังกลบ ซึ่งทั้งถุงจัดหนัก จัดเต็มและสิ่งปฏิกูลจะย่อยสลายได้ในดินตามธรรมชาติ ส่วนถุงดำใช้เก็บรวบรวมขยะมูลฝอย ห้ามทิ้งขยะลงแม่น้ำเด็ดขาด เพราะจะทำให้น้ำที่ท่วมอยู่สกปรก เน่าเหม็น และเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรค ควรแยกถุงขยะออกเป็น 2 ถุง คือ ขยะเน่าเสียและขยะแห้ง ปิดหรือมัดปากถุงให้เรียบร้อย
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับบางพื้นที่ที่มีน้ำท่วมสูง และจำเป็นต้องจัดพื้นที่หรือจุดอพยพให้กับประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม เช่น โรงเรียน วัด หรือมีเต็นท์ชั่วคราวไว้เป็นจุดพักพิง จึงควรมีการจัดการสุขาภิบาลที่ดีเพื่อป้องกันโรคระบาด ดังนี้
1) ที่นอนหรือที่พัก ควรมีลักษณะพื้นเรียบ การระบายอากาศที่ดี มีแสงสว่างเพียงพอและกางมุ้งเพื่อป้องกันยุง หากเป็นเต็นท์ควรปรับพื้นให้เรียบ ปูด้วยผ้ายางหรือพลาสติก กำจัดมดและแมลงโดยการโรยปูนขาวรอบๆ บริเวณเต็นท์
2) การทิ้งขยะ ต้องมีการรวบรวมขยะมูลฝอยใส่ในถุงดำและมัดปากถุงให้แน่น
3) สถานที่ปรุงอาหารหรือครัวควรระบายอากาศได้ดี อุปกรณ์ที่ใช้วางวัสดุอาหาร ภาชนะในการเตรียมและปรุงอาหารจากจุดบริการ ต้องมีความสูงไม่น้อยกว่า 60 ซม. และควรแยกห่างจากที่นอนหรือที่พัก ควรมีโต๊ะหรือชั้นสำหรับเตรียมปรุงอาหาร วางไว้กับพื้น อาหารต้องมีฝาปิดให้มิดชิด นอกจากนี้ หากเป็นน้ำถังหรือน้ำบรรจุขวดที่ได้รับบริจาค ให้ดูสัญลักษณ์ที่ได้มีการรับรองจากอย. วันหมดอายุและสังเกตความขุ่น สี ของน้ำที่ได้รับบริจาคด้วย
4) สถานที่รับประทานอาหาร ควรอยู่ใกล้กับที่ปรุงอาหาร เพื่อความสะดวก สะอาดถูกสุขลักษณะ และสำหรับผู้ที่ปรุงประกอบอาหารเพื่อบริจาคให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมควรคำนึงถึงความสะอาดของวัสดุหีบห่อและควรแยกระหว่างถุงบรรจุข้าวและถุงบรรจุอาหาร ไม่ให้ผสมปนเปกัน ที่สำคัญอาหารกล่องที่บริจาคควรต้องระบุควรบริโภคเวลาที่กำหนด
5) ห้องส้วม ห้องอาบน้ำ และห้องซักล้าง ควรอยู่ใกล้จุดจ่ายน้ำ สำหรับห้องส้วมต้องมีผนังกั้นมิดชิด สามารถทำเป็นที่อาบน้ำแบบรวม แต่ควรแยกชาย-หญิง ต้องมีส้วมสำหรับขับถ่ายและมีระบบเก็บกักอุจจาระ ห้ามทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อเป็นการป้องกันโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้ อาทิ โรคท้องร่วง โรคอาหารเป็นพิษ
***
สำนักสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง/ 7 ตุลาคม 2556