กระทรวงสาธารณสุข ประกาศนโยบายยกระดับคุณภาพสตรีและเด็ก ภายใต้การดำเนินงาน 9 ข้อ สานต่อนโยบายรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาและยกระดับการดำเนินงานให้ได้มาตรฐาน เน้นการสร้างพ่อแม่คุณภาพผ่านโรงเรียน พ่อแม่ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเลี้ยงดูบุตร
วันนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2556) นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประกาศนโยบายยกระดับคุณภาพสตรีและเด็ก ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาคุณภาพประชากรกลุ่มแม่และเด็กไทยให้ดีขึ้นด้วยการพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการสาธารณสุข การจัดระบบบริการที่ได้มาตรฐาน เชื่อมโยงสู่ชุมชนให้มีส่วนร่วมในรูปแบบชมรมสายใยรักแห่งครอบครัว ซึ่งตลอดระยะเวลาดำเนินงานพบว่าอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14.5 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 47.5 ในปี 2555 การฝากครรภ์ครั้งแรกก่อน 12 สัปดาห์ร้อยละ 52 ในปี 2555 เด็กแรกเกิดถึง 5 ปีมีพัฒนาการสมวัย ร้อยละ 70.3 ในปี 2550 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเห็นความสำคัญที่จะให้แม่ลูกปลอดภัยจากการตั้งครรภ์และการคลอดลูกได้รับการเลี้ยงดูให้เจริญเติบโตและพัฒนาการสมวัย มีระดับเชาว์ปัญญาเทียบเท่ามาตรฐานสากล จึงกำหนดนโยบายยกระดับคุณภาพสตรีขึ้น เพื่อให้แม่และเด็กมีสุขภาพกายและจิตที่ดีไม่ก่อให้เกิดปัญหาสังคม สานต่อนโยบายรัฐบาลโดยการนำของนายกรัฐมนตรีที่ได้ยืนยันเจตนารมณ์ที่จะร่วมกับสหประชาชาติในการยกระดับคุณภาพสตรีและเด็ก เน้นการสร้างพ่อแม่คุณภาพ โดยผ่านโรงเรียนพ่อแม่ เพื่อเตรียมความพร้อม ความรู้การเลี้ยงดูบุตร การปลูกฝังภูมิคุ้มกันทั้งกายและใจ ปลูกฝังวินัยเชิงบวก เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข ด้วยการรู้จักห่วงใยตนเอง พัฒนาทักษะชีวิตและสร้างจิตอาสาให้เกิดขึ้น เพื่อการเป็นพลเมืองที่ดีมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อว่า การประกาศนโยบายยกระดับคุณภาพสตรีและเด็ก ประกอบด้วย
1. สร้างพ่อแม่คุณภาพ ก่อนมีบุตรเข้ารับบริการตรวจร่างกายและรับความรู้ในโรงเรียนพ่อแม่
2. สร้างการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม โดยให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนฝากครรภ์เร็วและมาเป็นคู่ได้ทุกที่ทุกสิทธิ์
3. สร้างเด็กปลอดโรคพันธุกรรมและโรคติดเชื้อ โดยแม่ขณะตั้งครรภ์ได้รับการตรวจเลือด และเพื่อป้องกันโรคธาลัสซีเมีย เอดส์ เอ๋อ ได้รับยาเสริมไอโอดีนและวิตามินเสริมธาตุเหล็ก
4. สร้างภูมิต้านทานทางสังคมแก่เด็ก ผ่านการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ด้วยความรักความผูกพันได้กินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดและอาหารตามวัย
5. สร้างเด็กฉลาดทางทางปัญญาและอารมณ์ ด้วยการเลี้ยงดูที่ถูกต้องเหมาะสมของพ่อแม่ผ่านกระบวนการกิน กอด เล่น เล่า
6. เด็กได้รับการคัดกรอง และส่งเสริมพัฒนาการ หากพัฒนาการล่าช้าได้รับการแก้ไข
7. เด็กได้รับการฝึกทักษะชีวิต ผ่านการจัดกิจกรรมในคลินิกเด็กดีและศูนย์เด็กเล็กคุณภาพ
8. สตรีและเด็กได้รับบริการ ฝากครรภ์คุณภาพ ห้องคลอดคุณภาพ คลินิกเด็กดีคุณภาพและศูนย์เด็กเล็กคุณภาพ
9. ชุมชนท้องถิ่นร่วมสร้างเด็กไทยแข็งแรง ฉลาด อารมณ์ดี และมีความสุข อันจะส่งผลต่อการมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน
***
ฝ่ายประสัมพันธ์/ 19 กุมภาพันธ์ 2556